'สภาพัฒน์' เตือนภาคแรงงานไทย รับมือมาตรการกีดกันการค้าสหรัฐ

'สภาพัฒน์' เตือนภาคแรงงานไทยเตรียมรับมือมาตรการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ ห่วงใช้มาตรการกดดัน ตลาดแรงงานภาพรวมภาวะจ้างงานหดตัว 0.4% ว่างงาน 3.6 แสนคน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2567 โดย สศช. ระบุว่าประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังของสถานการณ์แรงงานในระยะต่อไปจากปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกรอบ
ซึ่งมาตรการจะทยอยออกมาตรการในการกีดกันทางการค้าซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากจากนโยบายของทรัมป์เนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯมากและเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯเพิ่มต่อเนื่อง
ซึ่งนอกจากกระทบเรื่องของการค้าและการส่งออกจากมาตรการทางภาษีไทยยัง มีประเด็นด้านการจัดการการค้ามนุษย์ ที่ได้รับการจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับ Tier 2 มาตั้งแต่ปี 2565 ทำให้ไทยถูกเพ่งเล็งในประเด็นนี้ด้วย
โดยสหรัฐฯอาจใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีลักษณะนี้กดดันไทย อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการเจรจาหากมีการประกาศว่าประเทศไทยจะถูกมาตรการจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นก็ต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมกับทางสหรัฐฯ
สำหรับภาพรวมสถานการณ์แรงงานไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ที่ผ่านมาพบว่าผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสสี่ ปี 2566 เล็กน้อยที่0.4% จากการลดลงอย่างต่อเนื่องของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่3.6% ขณะที่ภาพรวมสาขานอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะสาขาโรงแรม/ภัตตาคารที่ขยายตัว 9.4% และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าที่ขยายตัวตามการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น
ส่วนการจ้างงานในสาขาการผลิตขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่การผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยานยนต์ และการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี การจ้างงานยังหดตัวลงต่อเนื่อง ชั่วโมงการทำงานโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 47.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ
โดยผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นที่1.5% แต่ผู้เสมือนว่างงานและผู้ทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ที่ 1.9% และ 6 % ตามลำดับ
ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 0.88% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 3.6 แสนคน ซึ่งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่ออกมาจากสาขาการผลิต และสาขาการขายส่ง/ขายปลีก ภาพรวมปี 2567 อัตราการมีงานทำ ปี 2567 อยู่ที่ 98.6% ทรงตัวจากปี 2566 โดยจำนวนผู้มีงานทำมีจำนวน 39.8 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากปี 2566 ที่0.3% ขณะที่อัตราการว่างงานในปี 2567 อยู่ที่ 1%