สทนช. เตรียมปรับแผนระบายน้ำ 21 อ่างฯ ใหญ่ รับมือฝนปีนี้มาเร็ว

สทนช. เตรียมปรับแผนระบายน้ำ 21 อ่างฯ ใหญ่ รับมือฝนปีนี้มาเร็ว

สทนช. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมปรับแผนระบายน้ำ 21 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หลังฤดูฝนปีนี้มาเร็ว หวั่นน้ำเต็มความจุ พร้อมขับเคลื่อนแผนแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์น้ำ และขับเคลื่อนแผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ ครั้งที่ 2/2568  ว่า  ได้รับทราบสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์ รวมทั้งพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนบูรณาการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ และแผนบริหารจัดการน้ำรายอ่างขนาดใหญ่

สทนช. เตรียมปรับแผนระบายน้ำ 21 อ่างฯ ใหญ่ รับมือฝนปีนี้มาเร็ว

ทั้งนี้สืบเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 ได้มอบหมายให้สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนรองรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 สทนช. ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ในฐานะประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2568 ประเด็นแนวโน้มสถานการณ์น้ำปี 2568 และมาตรการรับมือฤดูฝนที่เห็นชอบโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว

โดยได้เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการฝนอย่างเคร่งครัด ปรับปรุงแนวทางการแจ้งเตือนอุทกภัยอย่างบูรณาการ และให้หน่วยงานเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการตามภารกิจ โดยเฉพาะแผนงาน/โครงการที่หน่วยงานได้รับงบประมาณในปี 2568 แล้ว โดยจัดลำดับแผนงานที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความจำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วนก่อน และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 โดยแผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบนี้ จะเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมต้นเดือนเมษายน 2568

ทั้งนี้ แผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ ประกอบด้วยแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว โดยแผนระยะสั้น มี 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.ปรับปรุงความถูกต้องและความแม่นยำของระบบตรวจและการคาดการณ์ 2.บูรณาการข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน 3.เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ และ 4.พัฒนาแผนประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนภัย

ส่วนแผนระยะยาว มี 3 กิจกรรม ได้แก่ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการพยากรณ์และคาดการณ์ 2.พัฒนาระบบเฝ้าระวังและการบริหารจัดการน้ำ และ 3.เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน  ที่ประชุมได้หารือแนวทางการดำเนินการบางส่วนจากคณะทำงานฯ แล้ว โดยจะนำไปปรับเพิ่มในรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น และเสนอ กนช. ต่อไป

" ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์ลานีญา คาดว่าแนวโน้มฤดูฝนปีนี้ค่อนข้างมาเร็ว และมีปริมาณฝนโดยรวมใกล้เคียงค่าปกติหรือมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่มีแนวโน้มปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ทั้งนี้ สทนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก มีจำนวน 21 แห่ง จากทั้งหมด 35 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง ภาคตะวันตก 1 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง"

 ซึ่งคณะทำงานฯ จะต้องร่วมกันวิเคราะห์การปรับแผนการระบายน้ำเป็นรายอ่างทั้ง 21 แห่งอย่างละเอียด เนื่องจากมีแนวโน้มปริมาณน้ำเต็มความจุของอ่างฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการปริมาณน้ำรองรับสถานการณ์ฝนล่วงหน้า ที่จะต้องเร่งพิจารณาปรับแผนเพื่อระบายน้ำล่วงหน้าก่อนจะถึงเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเตรียมพื้นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน อีกทั้งประชาชนและเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำที่ได้ระบายในช่วงฤดูแล้งด้วย เช่น ทำการเพาะปลูกพืชหรือใช้ประกอบอาชีพต่างๆ ดีกว่าจะไปดำเนินการเร่งระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก ที่อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำและสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์

ทั้งนี้ จะมีการหารืออีกครั้ง โดยจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง เพื่อประกอบการวิเคราะห์ในเชิงลึก ได้แก่ ข้อมูลการคาดการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลการคาดการณ์ฝนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และข้อมูลการคาดการณ์ฝนจากฝน ONE MAP เพื่อปรับแผนการระบายน้ำให้สอดรับกับสถานการณ์ฝนปีนี้ให้รัดกุมมากที่สุด และสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดด้วย