บางจาก ยืดเวลาคืนทุน SAF ยืนยันเดินเครื่องผลิต 25 เม.ย.68

บางจาก ยืดเวลาคืนทุน SAF ยืนยันเดินเครื่องผลิต 25 เม.ย.68

บางจาก ยันผลิต SAF ทั้งวัตถุดิบ เทคโนโลยี และตลาดรองรับ ชี้ เป็นผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100% รายแรกของไทย มั่นใจเปิดโรงงานผลิต 25 เม.ย.68 ปรับเป้าคืนทุนช่วง 5-7 ปี 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในโครงการ SAF ถือเป็นก้าวสำคัญของบางจาก จากผู้นำด้านพลังงานทดแทนสู่ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต ต่อยอดจากประสบการณ์กว่า 20 ปีในการจัดเก็บ UCO เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และมีความได้เปรียบเชิงต้นทุน ด้วยการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานของโรงกลั่นเดิม ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้าง และการดำเนินงาน

ทั้งนี้ จึงอยากให้มั่นใจว่าโครงการมีความก้าวหน้าด้านการก่อสร้างแล้วกว่า 96% และอยู่ระหว่างการเตรียมเดินเครื่องในไตรมาส 2/ 2568 โดยมีแผนเริ่มต้นจากการทดสอบสมรรถนะของโรงงาน (Plant Performance Test Run) และจะทยอยเพิ่มระดับการผลิต (Ramp-up) ไปสู่การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามสัญญาการจำหน่ายและแนวโน้มความต้องการของตลาด ทั้งนี้ บางจาก ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย SAF กับลูกค้าหลักแล้ว และรับจ้างการกลั่น (Tolling) อีกทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

บางจาก ยืดเวลาคืนทุน SAF ยืนยันเดินเครื่องผลิต 25 เม.ย.68

ลูกค้าวันนี้มีทั้งโรงกลั่น และเทรดเดอร์เกิน 50% ของกำลังการผลิตแล้ว ยืนยันว่าในไทยมีแค่โรงเดียวที่เป็น SAF บริสุทธิ์ 100% ดังนั้น ต้นทุนอาจจะวัดยากกับโรงกลั่นอื่นที่ใช้ SAF เข้าไปผสม

อย่างไรก็ตาม แปลกใจว่าข่าวที่ว่าบางจากขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เปิดโรงงานเลยไม่ทราบวัตถุประสงค์อะไรในการตีข่าว ตัวเนื้อข่าวมีการวิเคราะห์อะไรหรือไม่ กระทบค่อนข้างเยอะ ไม่สร้างสรรค์ ฝากผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ช่วยดูข่าวที่ทำให้คลาดเคลื่อน ขอความกรุณาอย่าเสี้ยมเพราะตนไม่ต้องการชนกับใคร อะไรที่ไม่ใช่ก็พร้อมชี้แจงให้ชัดเจน และแจงให้เข้าใจ

นายชัยวัฒน์ ยืนยันที่มาที่ไปว่าทำไมบางจากจะต้องลงทุน SAF เนื่องจากแนวโน้มโลกมีความชัดเจน เพราะจะพึ่งพาแบตเตอรี่คงไม่ได้ ขนาดเมื่อนั่งเครื่องบินยังห้ามใช้พาวเวอร์แบงก์ชาร์จมือถือเลย ส่วนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็ไกลตัวเกินไปดังนั้น คำตอบเพื่อลดโลกร้อน และรับการใช้งานอนาคตที่การเดินทางโดยเครื่องบินที่ 6 พันล้านคนที่จะเพิ่มขึ้นในทศวรรษละ 1.6 หมื่นพันล้านคน จึงยืนยันว่า บางจากลงทุนลงเพราะไม่ได้ตามแฟชั่น แต่ลงทุนเพราะประสบการณ์     

"เราถือเป็นผู้เริ่มต้นรายแรกทั้ง B2 และ B3 ที่เป็นมรดกตกทอด และเป็นคนทำ SAF รายแรกเหมือนกัน เราอัปเกรดโรงกลั่นปรับผลิตภัณฑ์ และต้นทุนที่แข่งขันได้ สิ่งที่ดีเลย์ไปเพราะมีเรื่องของการกีดกันทางการค้า เราต้องทำตามกฎระเบีบบที่ EU กำหนด หากต้องใช้ทั้งโลกต้องทำในกฎมาตรฐานโลก ซึ่ง EU เองก็โดนกระทบ เช่น เรื่องรายงานสิ่งแวดล้อม โลกกำลังปรับตัว ดังนั้น ก่อนจะถึงปี 2030 จะต้องบริหารจัดการได้แน่นอน"

นอกจากนี้ ทุกประเทศทั่วโลกได้โปรโมตสร้าง SAF ซึ่งในสหรัฐทุกลิตรที่ขายรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุน 3 บาทต่อลิตร ญี่ปุ่นสนับสนุน 7 บาทต่อลิตร ส่วนจีนนั้นห้ามส่งออกน้ำมันพืชใช้แล้ว ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี หากมีการสนับสนุนจะช่วยให้ความสามารถทางการแข่งขันไทยดีขึ้น

ในแง่ของดีมานด์ และซัพพลาย ในหลายประเทศ ทั้ง EU สิงคโปร์ อาจมีแผนล่าช้าลงตามประกาศ หลายที่ล่าล้าช้า 2 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง แต่เชื่อว่าหลังปี 2030 ความต้องการจะมากกว่าซัพพลาย และอาจจะไม่พอใช้ ดังนั้น เมื่อทั่วโลกประกาศ สายการบินต้องเติม เทรนด์ที่เห็น SAF เป็นตัวเดียวที่จะใช้ หลายสายการบินเติมล่วงหน้า เมื่อบินไปยุโรป ผู้โดยสารก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อช่วยโลก เพราะวันนี้ SAF เป็นโซลูชันเดียว 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า กำลังผลิต 1 ล้านลิตรนั้น บางจากมีซัพพลายเออร์รายใหญ่ 4-5 ราย และย่อยอีก 4-5 ราย ในเบื้องต้นมากกว่า 50% ที่หาในประเทศ ตอนนี้ผลิตในสต๊อกได้ 25 ล้านลิตรแล้ว ถ้ารันจริงจะได้ราว 80% และค่อยๆ เพิ่มกำลังผลิตได้ตามเป้าหมาย ส่วนวัตถุดิบไม่ได้จำกัดที่น้ำมันพืชใช้แล้วอย่างเดียว ในทางปฏิบัติสามารถใช้วัตถุดิบจากกรดไขมันปาล์ม หรือไขจากพืชหรือสัตว์ได้ 

"สำหรับยอดขายจะต้องรอ COD ก่อน และหากชัดเจนแล้วจะดูว่าจะเริ่มขายที่  50% หรือ 80-100% ซึ่งอาจต้องเรียนรู้กันเพราะเป็นของใหม่ และดูเรื่องดีมานด์ และซัพพลาย ปลายปีจะเห็นหน้าเห็นหลัง จากข่าวที่บอกหาวัตถุดิบยังไม่ได้ ไม่ใช่เลยเพราะโรงงานยังสร้างไม่เสร็จ"

นอกจากนี้ โรงงานได้ออกแบบขายในประเทศ 100% และหลังปี 2030 โดยตัวเลขปี 2019 ประเทศไทยใช้น้ำมันวันละ 20 ล้านลิตร ดังนั้น 5% คือ 1 ล้านลิตร จึงเป็นที่มาว่าจะสร้างวันละ 1 ล้านลิตร ซึ่งตอนนี้จะต้องคุยเรื่องของการหาน้ำมันใช้แล้ว และระหว่างนี้ อาจจะส่งออก และคุยกับลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก ร่วมกับหาธุรกิจเพราะบางจากรับจ้างกลั่นกฎเอาผลิตภัณฑ์มากลั่นและคิดเฉพาะค่ากลั่น ดังนั้น ช่วง 4-5 ปี จึงมีเวลาหาวัตถุดิบในประเทศ 

ยืนยันว่าไม่มีขาดทุนแน่นอน ไม่รู้ตัวเลขมาจากไหน กระบวนการตรงนี้ เขามาจ้างกลั่นเขาจ่ายค่าจ้างกลั่นสูงกว่าการผลิตเหมือนประเมินค่าการกลั่นที่เปลี่ยนทุกวัน มั่นใจว่าอีบิด้าจะเป็นบวก ส่วนคืนทุนจากเดิมคิดว่าจะคืนทุน 3-5 ปี ถ้าหลายประเทศที่เลื่อนไปอาจจะไม่เป็นไปตามแผน อาจจะ 5-7 ปี ส่วนราคา SAF ตอนนี้อยู่ที่ 48-50 บาทต่อลิตร (ไม่รวมภาษี) ถ้าซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์ จากเทรนด์ปี 2022 ที่ 80-90 บาท ดังนั้น ปี 2030 จะต้องดูดีมานด์ และซัพพลายอีกครั้ง 

สำหรับความกังวลในการทำ SAF แน่นอนคือ คิดเชื้อเพลิงสะอาด หลังได้งบ การเจรจาว่าจะเสร็จตามแผน และตามงบประมาณตั้งไว้หรือไม่ เมื่อมาถึงจุดนี้ก็ยังอยู่ในแผน เปราะที่ 2 เมื่อเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้วจะเป็นอย่างไร จะเกิดความเสี่ยง เช่น ลูกค้าเป็นใคร ซื้อแล้วมีเงินจ่ายหรือไม่ วัตถุดิบหาจากไหน ส่วนที่เกินจากนั้นจะเป็นอย่างไร หลังการกลั่นจะต้องหาลูกค้าด้วย มีความกังวลตลอด แต่ความกังวลทำให้รู้ว่าเรามีความเสี่ยง แล้วจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร ทุกอย่างต้องคิดหมด

อย่างไรก็ตาม แม้ในหลายประเทศยังไม่มีนโยบายบังคับผสม SAF ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ความต้องการเชื้อเพลิง SAF ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากแรงขับเคลื่อนของเป้าหมาย Net Zero และการลดคาร์บอนในภาคการบิน ขณะเดียวกัน หลายภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำที่ 2% ภายในปี 2025 ซึ่งสะท้อนทิศทางที่ชัดเจน และสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ทั้งนี้ แม้ในระยะสั้นตลาด SAF อาจยังมีปริมาณเหลืออยู่บ้าง แต่ในระยะยาวเริ่มจากปี 2030 กลับมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะขาดแคลน เมื่อข้อกำหนดบังคับเริ่มทยอยมีผลในหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับ หน่วยผลิต SAF ของกลุ่มบริษัทบางจาก ดำเนินการโดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด จะมีพิธีเปิดในวันที่ 25 เมษายน 2568 ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกลุ่มบริษัทบางจากในการต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และร่วมผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์