12 ส่งออก SME ดิ้นหลังสหรัฐขึ้นภาษี เร่งฟื้นเชื่อมั่น ใช้ของไทย สกัดสินค้าจีน

12 ส่งออก SME ดิ้นหลังสหรัฐขึ้นภาษี เร่งฟื้นเชื่อมั่น ใช้ของไทย สกัดสินค้าจีน

12 สินค้าส่งออก SME ไทย เผชิญปัญหาหนักดิ้นหลังจากสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศไทยถึง 36% แนะรัฐเร่ง "ฟื้นความเชื่อมั่น-ใช้ของไทย-สกัดสินค้าจีน"

KEY

POINTS

  • การส่งออกปี 2024 พบ SME พึ่งพาตลาดสหรัฐถึง 20 % มูลค่า 7,634 ล้านดอลลาร์ หรือมีส่วนแบ่ง

ภายหลังประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมที่กระทบกับหลายประเทศรวมถึงไทยที่จะถูกเก็บอัตราษีสูงถึง 36% มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025 เป็นต้นไป จากข้อมูล การส่งออก ปี 2024 พบว่า SME พึ่งพาตลาดสหรัฐสูงถึง 20 % ด้วยมูลค่า 7,634 ล้านดอลลาร์ หรือเอสเอ็มอีมีส่วนแบ่งของการส่งออกไทยไปสหรัฐที่ 14 % โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกของเอสเอ็มอีลำดับที่ 2 รองจากจีน

ขณะที่เอสเอ็มอีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 2,563 ล้านดอลลาร์ ทำให้เอสเอ็มอีเกินดุล 5,070 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2025 นี้ เอสเอ็มอียังส่งออกไปสหรัฐมูลค่ารวม 1,440 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.6% สินค้าส่งออกสำคัญ 5 ลำดับแรกได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับเฟอร์นิเจอร์ และพลาสติก คิดเป็นสัดส่วน 75 % ของ มูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอีไปยังสหรัฐทั้งหมด

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประมาณการผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีว่า มูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอี ไปยังสหรัฐ ปี 2568 จะลดลง 1,128 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 38,300 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ จีดีพี เอสเอ็มอี ปี 2568 ลดลง 0.2 % จากที่ สสว. ประมาณการการขยายตัวไว้ที่ 3.5 % ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทย รวมทั้งมาตรการตอบโต้ ของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ

ทั้งนี้ สสว. ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ส่งออกเอสเอ็มอีในเบื้องต้นพบว่า มีสินค้า 12 กลุ่มหลัก ที่พึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐในระดับสูง (การส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นไปยังสหรัฐเป็นตลาดหลักเกินกว่า 10% และมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านดอลลาร์) จะกระทบกับเอสเอ็มอีประมาณ 3,700 ราย ดังนี้

1. กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เครื่องส่งวิทยุ กล้อง ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล และลวดเคเบิ้ล

  • มูลค่าส่งออก : 2,792 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วน SME : 34%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 59%
  • จำนวนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี : 914 ราย

2. กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ พลอย และเครื่องประดับเพชรพลอยรูปพรรณ

  • มูลค่าส่งออก: 758 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วน SME: 45 %
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 19 %
  • จำนวนผู้ส่งออก 885 ราย

3. กลุ่มเครื่องจักรและส่วนประกอบ ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ ก๊อก วาล์ว ส่วนประกอบเครื่องยนต์อากาศยาน

  • มูลค่าส่งออก : 466 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนเอสเอ็มอี : 25%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 52%
  • จำนวนผู้ส่งออก SME : 156 ราย

4. กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โซฟา โคมไฟ อุปกรณ์ส่องสว่าง เฟอร์นิเจอร์การแพทย์

  • มูลค่าการส่งออก : 432.15 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนเอสเอ็มอี : 45%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 68%
  • จำนวนผู้ส่งออก SME : 400 ราย

5. ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เช่น ข้อต่อ ลวดเกลียว สลิง ตะปู สะพานและชิ้นส่วน ประตูน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร

  • มูลค่าการส่งออก : 181.07 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วน เอสเอ็มอี : 24%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 31%
  • จำนวนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี : 422 ราย

6. ยานยนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถพ่วงและกึ่งพ่วง

  • มูลค่าการส่งออก : 116 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วน เอสเอ็มอี : 8%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 21%
  • จำนวนผู้ส่งออก SME : 138 ราย

7. ของปรุงแต่งทำจากพืชผักผลไม้ ได้แก่ น้ำผลไม้ ผลไม้ ผักผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม แยม

  • มูลค่าการส่งออก : 73.97 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนเอสเอ็มอี: 10%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 14%
  • จำนวนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี : 293 ราย

8. อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม ได้แก่ สิ่งก่อสร้างทำด้วยอะลูมิเนียม ภาชนะอะลูมิเนียมสำหรับบรรจุก๊าซอัดหรือก๊าซเหลว และของอื่น ๆ ทำด้วยอะลูมิเนียม

  • มูลค่าการส่งออก : 68.23 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนเอสเอ็มอี : 55%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 53%
  • จำนวนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี : 74 ราย

9. เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ได้แก่ เสื้อกั๊ก เสื้อผ้าของเด็กเล็ก สูท เชิ้ต ถุงมือทุกชนิด เสื้อโอเวอร์โค้ตของบุรุษ ชุดวอร์ม ชุดสกี และชุดว่ายน้ำ

  • มูลค่าการส่งออก : 50.67 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนเอสเอ็มอี : 17%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 41%
  • จำนวนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี : 190 ราย

10. ธัญพืช ได้แก่ ข้าว

  • มูลค่าการส่งออก : 42.00 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนเอสเอ็มอี : 5%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 11%
  • จำนวนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี : 85 ราย

11. กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ แผ่นยางปูพื้น อย่างกันกระแทก ท่อยางอุตสาหกรรม

  • มูลค่าส่งออก 24 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนเอสเอ็มอี : 16%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 16%
  • จำนวนผู้ส่งออก เอสเอ็มอี : 121 ราย

12. กลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ สัตว์น้ำแปรรูป จำพวก กุ้ง หอย ปู

  • มูลค่าส่งออก 14 ล้านดอลลาร์
  • สัดส่วน เอสเอ็มอี : 7%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 49%
  • จำนวนผู้ส่งออก เอสเอ็มอี : 30 ราย

ทั้งนี้ เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว เอสเอ็มอีไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการค้นหาตลาดใหม่และคู่ค้าในภูมิภาค รวมทั้งหาประโยชน์จากกฎเกณฑ์การค้าผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และใช้ฐานการผลิตจากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษี

นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน ทำให้ภาคเอกชนสามารถบริโภคได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก และกระตุ้นการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องเผชิญกับการไหลบ่าของสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่แสวงหาตลาดทดแทนสหรัฐฯ ดังนั้น การเร่งสร้างมาตรการรองรับ รวมถึงการเพิ่มความตระหนักให้ผู้ซื้อพิจารณาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการขาดดุลการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต