'คมนาคม' เปิดมาตรการคุมเข้มก่อสร้าง ล้อมคอก 'รับเหมาจีน'

"คมนาคม" เปิดมาตรการคุมเข้มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในไทย จ่อหารือคลัง - พาณิชย์ ยกระดับกำหนดหลักเกณฑ์ต่างชาติทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
“จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา และมีเหตุอาคารถล่ม ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ต้องทบทวนกระบวนการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างทั้งระบบ” หนึ่งในบทสัมภาษณ์ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน (JC) ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยกระทรวงคมนาคมใช้บทเรียนครั้งนี้ เพื่อเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลังยกระดับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการภาครัฐ รวมไปถึงหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างของทุนต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายในการจดทะเบียนเข้ามาทำธุรกิจ ส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยเป็นธุรกิจเสรีและง่ายต่อการลงทุนของต่างชาติ
“สุริยะ” เผยด้วยว่า ตอนนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการด้านคมนาคม ต้องคุมเข้มการตรวจสอบวัสดุก่อสร้าง และการออกแบบก่อสร้างทั้งหมดให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนการเข้ามาประมูลงานก่อสร้างของ “รับเหมาจีน” แม้จะไม่สามารถกีดกันการร่วมลงทุนกับผู้รับเหมาไทยเพื่อเข้ามาประมูลงานได้ แต่กระทรวงฯ ก็จะเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง และประวัติผลงานในช่วงที่ผ่านมา
อีกทั้งยืนยันว่าปัจจุบันทุกโครงการของคมนาคมเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะ ไฮสปีดไทย - จีน ที่มีข้อกังวลจากประชาชนเกี่ยวกับมาตรฐานงานก่อสร้าง กระทรวงฯ ยืนยันว่า โครงการนี้มีการดำเนินการบนมาตรฐานที่สูง ออกแบบให้สามารถรองรับเหตุแผ่นดินไหว รวมทั้งโครงสร้างเหล็กต่างๆ มีมาตรฐานตามระดับสากล และโครงการนี้ใช้เหล็กที่มีความแข็งแรงของ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ส่วนโครงการก่อสร้างอื่นๆ ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ซึ่งพบว่ากลุ่มรับเหมาจีนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคาร และเกิดเหตุถล่มเป็นผู้ดำเนินโครงการอยู่นั้น ปัจจุบันมี 2 โครงการ คือ รถไฟไทยจีน ระยะที่ 1 ส่วนของสัญญา 3 - 1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง30.21กิโลเมตร วงเงิน 9,348 ล้านบาท ขณะนี้ รฟท.ได้เข้าตรวจสอบวัสดุก่อสร้างพบว่าเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด อีกทั้งได้ร่วมมือกับสถาบันเหล็ก รวมถึงวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาร่วมดำเนินการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในโครงการ
ขณะที่โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส ซึ่งมี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัดเป็นหนึ่งในผู้รับเหมานั้น ผลงานของโครงการมีความคืบหน้าเพียง 0.64% ภาพรวมของโครงการล่าช้ากว่า 61.27% และมีแนวโน้มว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา
โดยกระทรวงฯ ได้กำชับให้กรมท่าอากาศยานเร่งรัดงาน และมีเงื่อนไขว่าหากภายใน 2 เดือน โครงการไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานเดือนละ 5% จะต้องดำเนินการยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงานเนื่องจากผิดสัญญาจ้าง ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคุมเข้มงานก่อสร้าง ถอดบทเรียนมาจากเหตุแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม สู่การยกระดับ “ล้อมคอก” โดยเฉพาะกลุ่ม “ผู้รับเหมาจีน” ที่ปัจจุบันคว้างานประมูลโครงสร้างพื้นฐานในไทยไม่น้อย และหลายคนหวั่นว่าไทยกำลังเข้าสู่หายนะผลงาน “ตึกกากเต้าหู้”