WTO ชี้ภาษีทรัมป์ทำการค้าโลกติดลบเบรกทัพงัดมาตรการตอบโต้

WTO ชี้ภาษีทรัมป์ทำการค้าโลกติดลบเบรกทัพงัดมาตรการตอบโต้

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามประกาศคำสั่ง EO (Executive orders )กำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs)

KEY

POINTS

โดยอาศัยอำนาจภายใต้กฎหมาย International Emergency Economic Powers Act of 1977 (IEEPA)

สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

1. Baseline Tariff: จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากทุกประเทศในอัตรา 10% โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย.2568

2. Individualized Reciprocal Higher Tariff: จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการเป็นรายประเทศ สำหรับประเทศที่สหรัฐ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูง โดยไทยถูกกำหนดภาษีในอัตรา 36% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.2568 แม้ว่า Reciprocal Tariff ของไทยตาม chart ที่ Whitehouse เผยแพร่ใน X ระบุ 36% ขณะที่ข้อมูลตาม Annex I ของ  EO  ระบุอัตราภาษี Reciprocal Tariff ของไทย 37% ทั้งนี้ โดยหลักการ ควรพิจารณาใช้ข้อมูลจากตัวคำสั่ง EO (ที่มีการระบุอัตราภาษีใน annex 1) ที่เผยแพร่ลง Website ของ White House

การกระทำของทำเนียบขาว สร้างความสั่นสะเทือนมาที่ไทย และทั่วโลก เกิดความสับสนวุ่นวายทางการค้าที่ไม่ใช่เพียงการเจรจาบนโต๊ะอย่างมีเวลาให้เตรียมตัว แต่เป็นการลุยทำทันที

เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีเอลาผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก(WTO) ออกคำแถลงว่า สำนักเลขาธิการ WTO กำลังติดตาม และวิเคราะห์มาตรการที่ประกาศโดยสหรัฐเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568  อย่างใกล้ชิด หลังจากที่สมาชิกหลายรายแจ้งเข้ามาและ WTO เองก็กำลังติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อตอบคำถามให้กับสมาชิกถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของสมาชิก และระบบการค้าโลก

การประกาศของสหรัฐล่าสุดนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการค้าโลก และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การประมาณการเบื้องต้นของ WTO ชี้ให้เห็นว่ามาตรการเหล่านี้ เมื่อรวมกับมาตรการที่นำมาใช้ตั้งแต่ต้นปี อาจส่งผลให้ปริมาณการค้าสินค้าทั่วโลกหดตัวโดยรวมประมาณ 1% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงเกือบ 4% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ (WTO คาดว่าปริมาณการค้าจะเติบโต 2.7% ในปี 2567 และ 3% ในปี 2568) 

“ฉันกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการลดลงนี้ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงว่าสงครามภาษีศุลกากรจะเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเนื่องจากเห็นสัญญาณความพร้อมของโลกการค้าที่จะเข้าสู่วัฏจักรของมาตรการตอบโต้ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของการค้าต่อไป”

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ต้องจำไว้ว่า แม้จะมีมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ออกมาแต่การค้าโลกส่วนใหญ่ยังคงดำเนินไปภายใต้เงื่อนไข MFN (Most-Favoured-Nation) ของ WTO ซึ่งได้ทำให้ MFN ลดลงมาอยู่ที่ 74% ในปัจจุบัน จาก 80% เมื่อต้น 2568  สมาชิก WTO ต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกัน 

"ฉันขอเรียกร้องให้สมาชิกจัดการกับแรงกดดันที่เกิดขึ้นอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อป้องกันไม่ให้ความตึงเครียดทางการค้าลุกลามไป ซึ่ง WTO ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในช่วงเวลาเช่นนี้ในบทบาทเป็นเวทีสำหรับการเจรจา เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งทางการค้าทวีความรุนแรงขึ้น และเพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อมการค้าที่เปิดกว้าง และคาดการณ์ได้ ฉันขอสนับสนุนให้สมาชิกใช้เวทีนี้เพื่อการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และหาทางออกร่วมกัน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์