TDRI แนะไทยอย่าเน้นเจรจา เร่งเครื่องเศรษฐกิจรับมือสงครามการค้า

TDRI แนะรัฐบาลไทยอย่าเน้นเจรจาอย่างเดียว เร่งเครื่องเศรษฐกิจในประเทศ สร้างความแข็งแรงรับมือสงครามการค้าโลก
กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และ โพสต์ทูเดย์ จัดงานเสวนา Roundtable “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวเสวนาหัวข้อ "ผ่ากำแพงภาษี "ทรัมป์" ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ : Trump's Uncertainty" ว่า หากแบ่งระดับความรุนแรง 3 ระดับ และเทียบเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้สะท้อนระดับความรุนแรงของทรัมป์ได้ โดยส่วนตัวมองว่าเป็นปัญหาแค่ระดับ 1 แต่หากตีความแผ่นดินไหวตามเขตพื้นที่ กทม. และหลายจังหวัด จะมีอาฟเตอร์ช็อกซึ่งเป็นระดับ 1 จึงต้องรีบจัดการ
อย่างไรก็ตาม ในการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ 36% นั้น พบว่าเรื่องการขาดดุลการค้า ปัญหาหนี้สาธารณะ ถือเป็นปัญหาระดับที่ 2 และอาจจะรุนแรงมากขึ้น จึงอย่ามองแค่แผ่นดินไหวไปสู่ระดับ 3 ได้ซึ่งจะน่ากลัวที่สุด ดังนั้น กลไกทุนนิยมที่ใช้อาจจะไม่เป็นผล จึงมองว่าจะยังคงระดับ 2 อยู่
นอกจากนี้ การวางบนฐานของเสรีนิยมบวกกับประชาธิปไตย สหรัฐเสนอโมเดลต่างๆ มา ซึ่งทฤษฎีนี้บอกว่าทุกคนจะร่ำรวย แต่ท้ายที่สุดความเชื่อแบบนั้นทำให้หลายประเทศเติบโตแต่จะมีจุดอ่อน เช่น นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถหยุดกลไกการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนตกหล่นจากการพัฒนาในด้านนี้
อีกทั้ง แม้กระทั่งการขาดดุลการค้า ปัญหาหนี้ที่บอกไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเป็นขึ้นมา และตัวจุดฉนวนคือ ประเทศจีนที่เติบโตขึ้นมาเร็วมาก และเป็นผู้ท้าชิงอันดับ 1 ของสหรัฐ ถือว่าอันตรายมาก และจะมาแซงได้ ซึ่งตอนแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดี หรือ ทรัมป์ 1.0 จีนเคยสวามิภักดิ์ แต่เมื่อมาทรัมป์ 2.0 นี้จีนได้ตอบโต้อย่างรุนแรงมาก จะเห็นว่าเมื่อสหรัฐเปิดตัวเลขการขึ้นภาษีจีนก็ตอบโต้ทันที
"ฉากทัศน์ที่ 3 คือ สงครามโลก ครั้งที่ 3 จะเป็นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น หากสหรัฐอยากชนะจากการจัดระเบียบโลกให้ได้ จะต้องเอาจีนลงให้ได้ ซึ่งประเทศเล็กๆ อย่างไทยจะเป็นพื้นที่ของสงคราม และถ้าไม่เข้าข้างใครด้านใดด้านหนึ่งแล้วเราจะอยู่อย่างไร"
ดร.นณริฎ กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่ในระบบการค้าสหรัฐที่สร้างขึ้นมาการเจรจาแบบ Win Win นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะสหรัฐต้องการผลประโยชน์ในการเจรจามากกว่าจะยอมให้ได้ประโยชน์เท่ากัน โดยสถานการณ์ในสหรัฐอาจมีการปรับเปลี่ยนนโยบายได้ เช่น เรื่องของการประท้วงขนาดใหญ่ และการตัดสินของศาลสูงของสหรัฐว่าการขึ้นภาษีต้องผ่านสภาฯ หรือไม่ ซึ่งอาจเกิดได้ภายในเวลา 6 – 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งความยากก็คืออะไรที่เราเจรจากับสหรัฐแล้วจะดึงกลับคืนไม่ได้ ดังนั้น การเจรจาแบบช้า หรืออยู่เฉยๆ แบบสิงคโปร์อาจได้ผลดีเหมือนกัน
"อยากให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดของภาครัฐ เราไม่เคยวางตัวผู้แทนของประเทศในเรื่องการเจรจาการค้า โดยหลักคิดหากเป็นปัญหาขนาดใหญ่ ที่กระทบไปในระยะยาว เกิดปัญหาที่ยาวนานกว่านั้นคือ ต้องทำหลังบ้านใหม่ให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องของการทำงานภาครัฐอย่างเดียว เราไม่สามารถทำแค่เรื่องการเจรจาแล้วเยียวยา จึงต้องหารือระหว่างรัฐบาล เอกชน และประชาชน"
ดังนั้น โมเดลที่ต้องคิดคือ จะดูเรื่องอุตสาหกรรมไหนที่จะกระทบ ต้องดูว่าเรื่องที่ยังไม่เปิดการลดภาษีให้ก่อนหน้านี้คืออะไร ซึ่งการเจรจาไม่สามารถคิดอะไรง่ายๆ เช่น เรื่องของการตัดสินใจซื้อเครื่องบิน แต่ไม่ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลง และเจรจาที่ดีต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์