ทีดีอาร์ไอ ห่วงแนวคิดรัฐซื้อหนี้บริหาร ส่งสัญญาณผิด ดัน NPL พุ่ง

ทีดีอาร์ไอ ห่วงแนวคิดรัฐซื้อหนี้บริหาร ส่งสัญญาณผิด ดัน NPL พุ่ง

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ซื้อหนี้มาบริหารถือเป็นเรื่องยาก และมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ ระบุประเภทหนี้ไม่เหมือนตอนปี 40 เพราะเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ห่วง NPL พุ่ง

KEY

POINTS

  • “ทีดีอาร์ไอ” เตือนเศรษฐกิจไทยเกิดภาวะ Dead Loop หนี้สูง NPL เพิ่ม แก้หนี้ยาก
  • หากไม่ทำอะไรในเรื่องการแก้หนี้จะกระทบเศรษฐกิจไปอีก 3-5 ปี
  • เตือนรัฐ

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  กล่าวว่าปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่เป็นปัญหาในปัจจุบันแตกต่างจากปัญหาที่เกิดในช่วงวิกฤติปี 2540 ที่หนี้ในขณะนั้นเป็นหนี้ของเอกชนที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันทำให้จัดการได้ง่ายกว่า แต่หนี้ในปัจจุบันเป็นหนี้ของครัวเรือน หนี้ของประชาชน การจัดการก็จะยากกว่า ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงมากมาจากการที่บริโภคมากกว่าการทำธุรกิจ โดยเกิดปัญหาสูงมากในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19

เมื่อมีปัญหามาก กลไกการจัดการที่มีอยู่ก็เข้ามาช่วยจัดการยากรวมทั้งการติดตามทวงก็ไม่ได้ จะฟ้องร้องก็ไม่คุ้ม สุดท้ายก็ต้องมีบางส่วนที่ต้องตัดหนี้ (hair cut)ออกไปเลย ซึ่งกลไกของธนาคารคือมีการตั้งสำรองและตัดออกไปจากกำไรที่เป็น NPL หรืออาจเอาหนี้ที่มีอยู่ในส่วนนี้ไปขายให้กับคนที่จัดการหนี้ ให้กับธุรกิจที่มีความชำนาญในการติดตามทวงหนี้ ซึ่งลักษณะของธุรกิจนี้จะไม่ใช่ของธนาคาร

นายนณริฏ กล่าวต่อว่าประเด็นที่น่าสนใจก็คือกลไกแบบนี้ใช้ได้ในเวลาปกติ เพราะทุกปีจะมี NPL ประมาณ 1-3% ของการปล่อยกู้หนี้ หรืออาจมีหนี้ที่เป็นหนี้ที่มีการติดตามเป็นพิเศษ (SM) ซึ่งเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจเข้ามา ทำให้ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหานานกว่าปกติ ถ้าหากไม่ทำอะไร ก็จะต้องใช้เวลา 3 – 5 ปี พูดง่ายๆคือเราจะเห็นภาพที่บ้านขายไม่ออก คอนโดขายไม่ออก รถขายได้ยาก ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจซึมๆไปแบบนี้

“ประเทศไทยนั้นเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่ตอนนี้นักการเงินพูดถึงมากก็คือถ้าเราปล่อยให้ปัญหาการเงินลากยาว จะเกิดปัญหาตามมา เพราะ NPL สูงแบงก์ก็ไม่อยากปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจก็เจอปัญหา เรียกว่าทำมาค้าไม่ขึ้น คนใช้หนี้ไม่ได้ เพราะเงินไม่หมุน ก็กลับมาที่ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจก็ลดลง ความเสี่ยงที่วนไปแบบนี้เรียกว่า Dead loop ซึ่งคือสิ่งที่ต้องมีการซื้อหนี้ออกมาบริหารเพราะมีปัญหาแบบนี้” นายนณริฏ กล่าว  

เมื่อถามว่าในขณะนี้เครื่องมืออะไรจะมาใช้ในการแก้ปัญหาเพราะว่ากลไกตลาดทำเต็มที่แล้ว  ตรงไหนที่ธนาคารคิดว่าทวงถามได้ก็มีการไปทำแล้ว รวมทั้งให้ผู้เชียวชาญที่ทำธุรกิจติดตามทวงหนี้ก็มีการทำไปบางส่วนแล้วแต่ปัญหายังถือว่าหนักมากเพราะสภาพคล่องของคนลดลง การใช้หนี้ก็ลดลงตาม ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะเจอในการทำเรื่องนี้ก็คือรัฐบาลจะต้องเจอกับการบริหารหนี้ขอกลุ่มที่เป็นหนี้เสียระดับล่างสุดที่สถาบันการเงินไม่มีความสามารถในการไปจัดการทวงหรือติดตามหนี้ และอาจจะกระทบให้รัฐบาลต้องหางบประมาณมาใช้ในเรื่องนี้

“มีคำพูดที่บอกตอนนี้ว่าต่อให้ลดดอกเบี้ยไปธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ การที่คุณทักษิณบอกว่าจะทำเรื่องการรับซื้อหนี้โดยที่ไม่ใช้งบประมาณนั้นทำได้ยากมาก หากทำได้ก็จะยังเป็นในขนาดที่เล็ก อาจทำได้แค่ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ไม่อย่างนั้นก็จะทำได้เหมือนโครงการในอดีต ที่แบงก์ชาติก็เคยทำซึ่งแก้หนี้ได้แค่ 1% จาก 1 ล้านล้านบาทไม่ได้สร้างผลในการลดหนี้ได้มาก แต่หากจะทำให้เกิดผลกระทบที่แรงพอก็ต้องใช้งประมาณลงไปช่วยอุดหนุน ซึ่งทำได้แต่ภาครัฐก็จะมาต้องรับภาระในเรื่องนี้”

นอกจากนี้การที่รัฐบาลจะมาเป็นผู้ลงมาบริหารหนี้เสียที่มีอยู่มาก หรือหาโมเดลในการที่จะบริหารหนี้เสียแบบนี้จะเป็นการส่งสัญญาณผิดๆไปถึงประชาชนว่า “มีหนี้ไม่ต้องจ่ายหนี้” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกเพราะหากไปส่งสัญญาณแบบนี้หากเกิดมีคนเบี้ยวไม่จ่ายหนี้มากๆก็อาจจะกระทบกับระบบการเงินที่เป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้

ซึ่งประเด็นที่น่ากลัวคือขนาดหนี้ที่เป็นปัญหาจะมากกว่าเดิม เพราะรัฐบาลกำลังหาทางที่จะรับซื้อ หรืออุ้มหนี้จากกลุ่มมี่มีมูลค่ามาก คือทั้งบ้าน และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในส่วนนี้ต้องคิดและชื้อหนี้อย่างรอบคอบเพราะมีผลกระทบในวงกว้าง อาจเป็นเรื่องที่อันตรายเพราะอาจจะเกิดปัญหา Moral Hazard คำพูดที่ไปประกาศว่าจะซื้อหนี้ทั้งหมด เศรษฐกิจจะพังทั้งระบบได้ เพราะคนที่จ่ายหนี้ปกติก็อาจจะเริ่มไม่อยากจ่าย

“หากรัฐคิดแต่ว่าจะช่วยคนที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ มีปัญหา คนที่ทำดีก็รู้สึกอ่อนแอ แล้วเราจะไปต่ออย่างไร เพราะคนไปเข้าใจแล้วว่าหนี้กลุ่มนี้รัฐบาลจะเข้ามาช่วยมากหากเป็นหนี้เสียซึ่งตรงนี้ต้องสื่อสารกับประชาชนให้ดี”

นายนณริฏกล่าวต่อไปว่าการแก้ไขควรทำแบบที่เป็นเรื่องการทำโมเดลเดี่ยวกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.)ที่เป็นกลไกช่วยค้ำประกันการปล่อยกู้ให้ธนาคารพร้อมที่จะปล่อยกู้มากขึ้น ซึ่งกลไกนี้ก็จะทำให้ธนาคารกล้าปล่อยความเสี่ยงได้มากขึ้น ขณะที่ในส่วนของ สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ National Credit Guarantee Agency (NaCGA)  ที่จะออกมารัฐจะปล่อยสินเชื่อเอง และค้ำปะกันความเสี่ยงที่มีอยู่เอง ทำให้ภาครัฐต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ซึ่งในระบบแบบนี้เท่ากับรัฐบาลจะทำแข่งกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ไม่ได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้มากขึ้น

ที่จริงแล้วต้องใช้กลไกตลาดมาสนับสนุนให้ตลาดสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น มากกว่าที่รัฐจะมาทำเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง แล้วรับความเสี่ยงมากขึ้นเพราะไม่มีข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมของประชาชนที่จะปล่อยสินเชื่อให้ได้มากเพียงพอ โอกาสที่จะเสียหายจึงมีมาก