‘พิชัย’ ลุยตอบโจทย์สหรัฐ สั่งพาณิชย์ สอบสินค้าสวมสิทธิ - นอมินี

‘พิชัย’ สั่ง พาณิชย์ เร่ง ตรวจสอบ สินค้าไม่ได้คุณภาพทะลักเข้าไทย - สวมสิทธิส่งออก พร้อมลุยจับนอมินี หลังสหรัฐ แจ้ง ลิสต์สินค้าเข้าข่าย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ว่าได้มีการพูดคุยถึงสินค้าที่ทะลักเข้าไทยทั้งที่มีคุณภาพ และไม่ได้คุณภาพ รวมถึงสินค้าที่ผ่านเข้ามาในไทย และแปรรูปสวมสิทธิว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตรวจสอบกรณีสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ และดำเนินคดีไปแล้วกว่า 29,000 คดี ซึ่งจะทำให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน มีการจับนอมินีไป แล้ว 852 บริษัท ทุนจดทะเบียนรวม 15,888 ล้านบาท และปัจจุบันก็มีอีก 49,000 กว่าบริษัท ที่มีต่างชาติถือหุ้นอยู่ก็จะเข้าไปตรวจสอบว่าเป็นการถือนอมินีหรือไม่
ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าหลักการในการควบคุมสินค้า คือ ยึดเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ และจะมีการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม โดยยึดหลักมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทั้งสินค้า อาหาร และยา รวมไปถึงฉลากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องให้ความสำคัญในการระบุฉลากเป็นภาษาไทย
ด้าน นายพิชัย ย้ำว่า เราเน้นย้ำเรื่องคุณภาพสินค้าหากพบ สินค้าที่ต้นทุนต่ำขายราคาถูก และนำไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น TEMU ก็จะไปติดตามว่าสินค้าเหล่านั้นเข้ามาถูกต้อง และมีใบรับรองคุณภาพหรือไม่ โดยในส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปตรวจสอบ และหากพบว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพสามารถแจ้งเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ให้ขายสินค้านั้นได้ และถ้าหากเจ้าของแพลตฟอร์มต้องการขายสินค้าในไทยจะต้องจดทะเบียนในไทยเท่านั้น เพื่อทำให้ทุกอย่างอยู่ในระบบ
สำหรับเรื่องนอมินี หากตรวจสอบว่ามีคนไทยถือหุ้นไม่เกิน 50% จะต้องตรวจสอบในส่วนนี้ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดูเรื่องการจดทะเบียนและดูว่าใครเป็นเจ้าของเงินรวมถึงการตรวจสอบการถือครองที่ดิน เพราะโดยปกติจะไม่ให้ต่างชาติถือครอง
นายพิชัย ยังระบุด้วยว่า ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะมีการทบทวนกฎหมาย ให้เป็นสากลมากขึ้น ต้องดูว่าสินค้า และบริการประเภทไหนที่ไม่อนุญาตให้ทำ อาจจะต้องมีการอนุญาตในอนาคตเพื่อทำให้ชาวโลกเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ปิดกั้น แต่จะทำทุกอย่างให้เป็นสากลมากขึ้น
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งได้ทำไปแล้ว คือ เรื่องสินค้าที่ผ่านทางเข้ามาในไทย และนำไปขายที่อื่น หรือนำมาแปรรูปที่ไทยแล้วส่งออกจะต้องมีการเฝ้าระวัง และติดตามประเทศปลายทางที่มีการรับสินค้าไป เช่น สินค้าบางอย่างที่สหรัฐอเมริกาจับตา เข้าข่ายสวมสิทธิก็จะแจงบัญชีรายการมา โดยกระทรวงพาณิชย์ ก็จะเข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิต และต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน และมีใบรับประกันคุณภาพสินค้าจากไทยจึงจะสามารถส่งผ่านไปได้ ซึ่งปัจจุบันมีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรสหรัฐ ประจำประเทศไทย พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และดีใจที่มีการทิ้งเวลาการเจรจาภาษีไว้ เพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทางสหรัฐ ก็มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ไทย ประสานงานทำงานร่วมกัน ซึ่งเท่าที่ตนรับทราบสหรัฐ ก็มีความพึงพอใจระดับหนึ่ง แม้ว่าปริมาณสินค้าที่ส่งไปสหรัฐ จะมีปริมาณไม่มาก แต่ก็ทำให้ดีขึ้น และนายกรัฐมนตรี ก็ได้กำชับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ และเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัว จึงได้มอบหมายให้ทุกกระทรวง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่ง ร่วมกันตรวจสอบหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่เราทำสมเหตุสมผล ไม่ได้ตั้งใจที่จะไม่ต้อนรับอะไรที่เข้า แต่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ และกฎหมายไทย วันนี้เราอยู่ในโลกใบนี้ ซึ่งต้องการอยู่แบบเป็นมิตรกับทุกคน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายมาว่าให้ดูเรื่องนี้ด้วย
ส่วนเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนที่จะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐ หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เราได้ดำเนินการทำอยู่แล้ว และสหรัฐ ได้เห็นกระบวนการที่เราทำ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบไปเรื่อยฯ และหลังจากนี้อาจจะมีการส่งรายการสินค้าเพิ่ม หรือบางชนิดอาจไม่ต้องตรวจสอบแล้ว แต่เขาพอใจกับวิธีการของเรา เป็นไปตามมาตรฐานที่เขาอยากเห็น พร้อมเชื่อว่า เป็นผลดี เพราะเป็นไปตามหลักสากล และยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งสินค้าที่ถูกส่งออกไปจากไทย ก็ไม่รู้ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เพราะในโลกนี้ผู้ค้าก็มีการพูดคุยกันในราคา และจำนวนซื้อขาย ต่อให้ไม่มีเรื่องภาษีสหรัฐ ตนก็อยากทำเรื่องนี้อยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ขอความชัดเจน ว่า การเลื่อนนัดเจรจาภาษีกับสหรัฐ เป็นการเลื่อนนัดหรือไม่ได้นัดตั้งแต่แรก นายพิชัย ระบุว่า เราเลื่อนหรือเขาเลื่อนไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือ เวลาที่เหมาะสมคือ คำตอบ หากเวลาไม่เหมาะสมเราก็อยากขอเลื่อน
พร้อมชี้แจง ว่า ไทยไม่ใช่คู่ค้าขนาดใหญ่ เป็น 10 อันดับแรก ดังนั้นหากเขาจะเจรจาคงจะต้องเดินตามกรอบของรายใหญ่ ดังนั้นถ้าเรารู้ว่ารายใหญ่เขาตกลงอะไรกันได้ จะได้มีกรอบเพื่อปรับให้เข้ากัน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีข้อยุติ
นายพิชัย ยังระบุอีกว่า ตลอดเวลาการเจรจามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทั้งจากการทราบข่าวอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ และมีหลายๆ เรื่องที่ตนเคยพูดอยู่เสมอว่า การค้าที่เปลี่ยนไปมา ซึ่งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และการเงินที่เปลี่ยนแปลง มีผลกระทบกับทุกคน ดังนั้นเมื่อมีการพูดคุยจะต้องคุยเงื่อนไขทางการเงินประกอบ เงื่อนไขทางการค้า จึงดีใจว่าเราแอบคิดไว้ก่อน
เนื่องจากแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทั้งสถานะทางการเงิน และเงื่อนไขทางการเงิน เพราะฉะนั้นตนคิดว่าใครจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน ขอให้ดูว่าวันนี้ครบถ้วนหรือไม่ เมื่อเขาคิดว่าได้กรอบแล้ว แล้วเขาส่งสัญญาณมาว่าอยากคุยกับเรา เราก็จะเดินทางไป ซึ่งการเจรจา 100 กว่าประเทศจะถูกแยกออกเป็น 2 ประเภท ที่อาจแบ่งแยกด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ตามสถานะของแต่ละประเทศ
ส่วนการพูดคุยจะต้องรอท่าทีการหารือระหว่างสหรัฐกับจีนหรือไม่ นายพิชัย ระบุว่า เงื่อนไขนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ตนก็เฝ้าจับตา และได้ภาวนา และหวังว่าจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อทำให้คลื่นลูกนี้เล็กลง และทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ ที่ต้องดูควบคู่กันไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์