บ้านฉาง 5G Smart City ต้นแบบชุมชนแห่งอนาคต

บ้านฉาง 5G Smart City ต้นแบบชุมชนแห่งอนาคต

นำร่องบ้านฉางเมือง 5G อัจฉริยะ แห่งแรกในไทย ใช้ประโยชน์ 5G พัฒนาชุมชน ร่วมมือองค์การปกครองท้องถิ่น ยกระดับความเป็นอยู่อย่างทัดเทียมและยั่งยืน

ในวันนี้ ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสัญญาณ 5จี แล้วเกิน 100% ของพื้นที่ ซึ่งสิ่งต่อมาสิ่งที่จะได้เห็นแน่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อภาครัฐ เอกชน และประชาชนนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ โดยเห็นเเป็นรูปธรรมกับชุมชนก่อนที่แรก ณ ตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า บ้านฉางนั้นมีความต้องการอยากเป็นเมืองอัจฉริยะตั้งแต่ก่อนก่อตั้งพื้นที่อีอีซี แล้วเรามาทำสำเร็จได้ตอนที่เทคโนโลยี 5จีเข้ามา 

ซึ่งได้เปิดตัวโครงการบ้านฉางเมืองต้นแบบ 5G ไป เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 โดย สกพอ. ร่วมมือกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มเติมภายหลัง ได้แก่ บริษัท 5จี แคททะลิซท์ เทคโนโลยีส์ จำกัด บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัดหาเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลกและหลากหลายเพื่อออกแบบ 5G Solution ที่ตอบโจทย์ระบบการบริหารจัดการเมือง 

เช่น การจัดระเบียบการขนส่งและการจราจร ข้อมูลรถโดยสารสาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและระบบไฟทางอัตโนมัติ ระบบกำจัดน้ำเสีย เป็นต้น

ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท โดยแหล่งเงินสนับสนุนมาจาก 3 แหล่งใหญ่ แบ่งเป็น เทศบาล 30% NT 30% และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีก 40%

 

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษ EEC ด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี กล่าวว่ากุญแจสำคัญของการทำสมาร์ทซิตี้คือ การบริหารจัดการ Big Data ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมืองอัจฉริยะที่ผนวกการใช้เทคโนโลยี 5จี เพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมาก ทั้งยังรองรับการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลต่างๆ จากเซนเซอร์ของอุปกรณ์ IoT ที่ติดตั้งอยู่รอบเมือง เหล่านี้จะถูกรวบรวม จัดเก็บ และนำไปวิเคราะห์ที่ Data Center ของอีอีซี ในรูปแบบ common data lake และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใช้ข้อมูลสาธารณะเพื่อต่อยอดธุรกิจได้

นายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง กล่าวว่า บ้านฉางมีเป้าหมายพัฒนาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยการทำโครงการสาธารณูปโภคด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติงบประมาณปี 2564 เพิ่ม 36 ล้านบาท

นายปรมินทร์ แสงศักดิ์สิทธารถ รองปลัดเทศบาลตำบลบ้านฉาง เล่าว่า ย้อนกลับไปก่อนบ้านฉางเป็น Smart City ปี 2552 จังหวัดระยองเกิดวิกฤตด้านมลพิษ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ มีสารเคมีอันตรายปนเปื้อนอยู่ในอากาศรุนแรงมากที่สุดในประเทศไทย เพราะมีการลักลอบทิ้งสารเคมี ขยะอันตราย หรือปล่อยน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น จนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ประชาชนในพื้นที่เกิดความกังวลที่ระยองเป็นจุดกำเนิดมลพิษ มีคนจำนวนหนึ่งย้ายออก แม้แต่อาหารทะเลก็ไม่มีใครกล้ากิน

 

เทศบาลจึงหาแนวทางแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงานและชาวบ้าน โดยในปี 2559 มีการวางแผนพัฒนาเมืองในรูปแบบ “Eco Town เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” เชิญนักวิชาการเข้ามาช่วยวางแผน ซึ่งในปีนั้นเองรัฐก็ได้มีการแถลงนโยบายเกี่ยวกับ 4.0 ปรับโครงสร้างให้กลายเป็นเศรษฐกิจนวัตกรรม ต่อมาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ประกาศแผนการจัดทำ Smart City วางรูปแบบเอาไว้ 7 ด้าน ซึ่งเรามองเห็นว่าด้านที่บ้านฉางจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ให้เกิดการพัฒนาเร่งด่วน คือ Smart Environment, Smart Energy, Smart Living

พอเราจะเริ่มดำเนินการไม่นาน EEC ก็เลือกให้บ้านฉางเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อนำ 5จี มาใช้ประโยชน์กับชุมชน ให้มองเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เลยได้ผนวกโมเดล Smart City ที่เริ่มทำแล้ว บวกกับเทคโนโลยี 5จี ผลที่ได้คือเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น

การลงทุนในระยะแรก NT ได้ทดลองติดตั้งเสาอัจฉริยะ (Smart Pole) 5 ต้น และติดตั้งเพิ่ม 20 ต้น ในเขตเทศบาล ตั้งเป้าทั้งหมด 160 ต้น

ตัวเสาอัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สัญญาณ 5จี ในพื้นที่ และมีฟังชันก์การใช้งานหลากหลาย อาทิ ปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตสาธารณะฟรี เชื่อมต่อเซนเซอร์ตรวจจับมลพิษในอากาศและน้ำ  เชื่อมต่อโดรนไร้คนขับที่บินสำรวจบริเวณหาดและท่าเรือตรวจจับการเดินเรือผิดกฎหมาย เรือจอดซ้อนคันและคนลักลอบเข้าเมือง  มีปุ่มกดระบบขอความช่วยเหลือ (SOS) ไปยังหน่วยงานรัฐ เช่น เทศบาล สถานีตำรวจ โรงพยาบาล 

สิ่งที่เทคโนโลยี 5จี เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลักที่สำคัญอย่างแรก คือการแจ้งข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐถึงประชาชน จากที่ชาวบ้านเคยกังวลเรื่องปัญหามลพิษ ก็มีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจวัดระดับมลพิษทั้งในอากาศและน้ำซึ่งแสดงผลได้แบบ real time เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านที่อยู่อาศัย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ด้วยว่าตอนนี้ระดับมลพิษไม่น่ากังวล

อย่างที่สองด้านระบบความปลอดภัย แต่ก่อนเรามีแต่กล้องวงจรปิด พอมี 5จี ด้วยก็เพิ่มการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เกิดเป็นเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าได้ ทำให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้น ใช้ตรวจจับคนทำผิดมาดำเนินคดีหรือใช้ตามหาคนหาย 

อย่างที่สาม ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้าน การใช้เทคโนโลยีเริ่มซึบซับและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในชุมชน ช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตง่ายขึ้น ทั้งยังต่อยอดในเชิงธุรกิจ เช่น การใช้ขายสินค้าออนไลน์ 

"โจทย์ใหญ่ที่สำคัญคือ ทำยังไงให้ชาวบ้านในพื้นซึ่งเคยเป็นชุมชนเกษตรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างทัดเทียมกับรอบข้าง ซึ่งห่างไปไม่ไกลกำลังเกิดมหานครการบินภาคตะวันออกที่จะพัฒนาเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า”