ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก?ตอนที่2

ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก?ตอนที่2

ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Emission Trading Scheme (ETS) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในกลไกราคาคาร์บอน หรือ Carbon Pricing Instruments (CPIs) ที่ในปัจจุบันนานาประเทศใช้ในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของโลก

ต่อเนื่องจากครั้งก่อนที่เล่าถึง ระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกซึ่งหลายประเทศในโลกนำมาใช้แล้ว ในครั้งนี้จะเล่าถึงความเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวในประเทศไทย 

สำหรับประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ และศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในเชิงโครงสร้างพื้นฐานของการดำเนินงานระบบ ETS เช่น ระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร รวมไปถึงการศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับระบบการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกฎหมาย ETS ที่ต้องบังคับใช้ และการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ

ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก?ตอนที่2

ประโยชน์ของระบบ ETS ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เนื่องจากองค์กรสามารถเลือกวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจของตนได้ เช่น จะเลือกลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง หรือซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรอื่นที่ขายในต้นทุนที่ต่ำกว่าการดำเนินการลดด้วยตนเองก็ได้ ดังนั้น จึงสามารถลดต้นทุนได้ดีกว่าการบังคับด้วยกฎระเบียบ หรือการนำมาตรการทางภาษีมาบังคับใช้ อีกทั้งระบบ ETS ยังตอบสนองต่อความผกผันของระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่านโยบายอื่นๆ เนื่องจากราคาคาร์บอนถูกกำหนดโดยตลาดเสรี ทำให้ต้นทุนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความยืดหยุ่น เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ราคาของสิทธิ์ก็จะลดลงเนื่องจากปริมาณการผลิตลดลง ซึ่งความยืดหยุ่นลักษณะนี้อาจไม่สามารถทำได้หากใช้นโยบายด้านภาษี ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการค้นหามาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีต้นทุนต่ำสุด โดยการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและสัญญาณด้านราคาที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ตัดสินใจลดก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีการที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เช่น การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งช่วยให้ธุรกิจพัฒนาไปในแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น หากใช้นโยบายที่บังคับการใช้เทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่ส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มในการหามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรืออาจทำให้ต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกสูงมากเกินไปจนเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการและองค์กรที่ถูกบังคับให้ลดก๊าซเรือนกระจก

สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศควรต้องรีบดำเนินการ ทั้งนี้ หากกลไกใดสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า และมีประสิทธิผลมากกว่า ก็ควรนำมาพิจารณาใช้เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของประเทศ แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินงานต่างๆ ต้องมีแรงสนับสนุนทางด้านนโยบายและมาตรการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ประกอบกัน โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมการลงทุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ตลอดจนมีกฎการดำเนินงานที่เข้มงวด และต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและประสิทธิภาพของงบประมาณที่ใช้ ศักยภาพในการเชื่อมโยงกับกลไกราคาคาร์บอนในประเทศอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำพาประเทศให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว