จัดระเบียบโลกใหม่ต้องทำลายอเมริกา? | ไสว บุญมา

จัดระเบียบโลกใหม่ต้องทำลายอเมริกา? | ไสว บุญมา

ปีนี้ครบรอบ 30 ปีของการพิมพ์บทความเรื่อง The Clash of Civilizations (การปะทะของอารยธรรม) ของนักวิชาการชื่อดังแซมวล ฮันติงตัน ซึ่งแย้งมุมมองของ ฟรานซิส ฟูกุยามา ดังที่คอลัมน์นี้พูดถึงหลายครั้งในช่วงนี้

นายฟูกุยามามองว่าโลกจะสงบสุขหลังสงครามเย็นยุติด้วยการพ่ายแพ้ของฝ่ายที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์โดยเสนอไว้ในบทความเรื่อง The End of History  บทความนี้ได้รับการปรับขยายเป็นหนังสือชื่อ The End of  History and the Last Man ซึ่งพิมพ์ออกมาครบ 30 ปีในปีนี้เช่นกัน  

ไม่นานหลังพิมพ์บทความที่อ้างถึงข้างต้น นายฮันติงตันนำมันมาปรับขยายโดยเติมประเด็นเกี่ยวกับการจัดระเบียบโลกใหม่เข้าไปเป็นหนังสือชื่อ The Clash of Civilizations and the Remaking of the World Order (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

เหตุการณ์โลกในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาน่าจะชี้ชัดแล้วว่า โดยทั่วไปมุมมองของนายฮันติงตันกำลังเป็นจริง  สงครามในยูเครนเป็นตัวอย่างล่าสุดของการปะทะกัน  

ตามมุมมองเขา โลกหลังสงครามเย็นอาจแยกออกได้เป็น 8 กลุ่ม โดยมีวัฒนธรรมเป็นฐานของการแยกคือ กลุ่มจีนซึ่งประกอบด้วยจีนบนแผ่นดินใหญ่ ชุมชนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และวัฒนธรรมใกล้เคียงรวมทั้งไทย เกาหลีและเวียดนาม  

กลุ่มญี่ปุ่น  กลุ่มฮินดูซึ่งอยู่ในอินเดียเป็นหลัก  กลุ่มอิสลาม  กลุ่มคริสต์ดั้งเดิมซึ่งรัสเซียเป็นผู้นำ  กลุ่มตะวันตกซึ่งประกอบด้วยยุโรปส่วนใหญ่ อเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์  กลุ่มละตินอเมริกา  และกลุ่มแอฟริกา

จากการแยกดังกล่าว สงครามในอิรักและอาฟกานิสถานอาจมองว่าเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มอิสลามกับกลุ่มตะวันตก  ส่วนสงครามในยูเครนอาจมองได้ว่าเป็นทั้งการปะทะกันเองภายในกลุ่มคริสต์ดั้งเดิมและระหว่างกลุ่มนี้กับกลุ่มตะวันตกโดยมียูเครนเป็นสนามรบก็ได้  

การปะทะกันทั้งแบบระหว่างกลุ่มและภายในกลุ่มนั้นนายฮันติงตันมองว่าจะเกิดขึ้นแน่  แต่เขามองต่อไปอีกว่าการปะทะกันอย่างกว้างขวางจะเป็นระหว่างกลุ่มตะวันตกนำโดยสหรัฐกับกลุ่มอื่น  

มุมมองนี้คงมีคนไทยไม่น้อยที่คิดว่าการจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยทำลายสหรัฐคือคำตอบชอบอกชอบใจและอยากให้เกิดขึ้น 

จัดระเบียบโลกใหม่ต้องทำลายอเมริกา? | ไสว บุญมา

มุมมองของนายฮันติงตันถูกท้าทายในแวดวงวิชาการมาตลอด 30 ปี  ณ วันนี้ เราอาจมองได้ว่ากลุ่มตะวันตกกำลังถูกหลายกลุ่มรุมล้อมตีดังที่เขามองโดยเฉพาะกลุ่มคริสต์ดั้งเดิม กลุ่มอิสลามและกลุ่มจีน  

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่ล้อมตีก็มีความแตกแยกภายในถึงฟาดฟันกันเองในแนวที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน  เกาหลีใต้ไม่มีทีท่าว่าจะเดินไปกับจีน และกลุ่มอิสลามก็แตกแยกกันระหว่าง 2 นิกายใหญ่ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดสงครามในเยเมนและความขัดแย้งร้ายแรงระหว่างอิหร่านกับประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย  

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อ้างถึงจึงน่าจะชี้ว่า เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าผลสุดท้ายของการ “จัดระเบียบโลกใหม่” จะเป็นความสงบสุข  ตรงข้ามมันจะเป็นความขัดแย้งร้ายแรงตลอดกาล หรือร้ายยิ่งกว่านั้น มนุษยชาติอาจถูกทำลายเมื่อการท้าทายและรุมล้อมกลุ่มตะวันตกนำไปสู่สงครามโลกที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์

จัดระเบียบโลกใหม่ต้องทำลายอเมริกา? | ไสว บุญมา

อนึ่ง คอลัมน์นี้อ้างถึงหนังสือชื่อ The World Is Flat หลายครั้ง  (มีบทคัดย่อภาษาไทยในเว็บไซต์ที่อ้างถึง)  หนังสือเล่มนี้คาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดในช่วงหลังสงครามเย็นจะเอื้อให้ชาวโลกติดต่อสื่อสารกันได้ภายในพริบตาและค้าขายกันได้อย่างราบรื่น ส่งผลให้ความเป็นอยู่โดยทั่วไปดีขึ้นพร้อมกับมีโอกาสอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขสูงขึ้น 

 แต่การคาดหวังนั้นไม่เป็นจริง  เทคโนโลยีใหม่ยังถูกใช้สร้างอาวุธร้ายแรงเพิ่มขึ้น  ฉะนั้น เราน่าจะสรุปได้ว่า โดยธรรมชาติธาตุแท้แล้ว มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฝึกให้เกิดปัญญาได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ไม่สามารถฝึกให้อยู่ร่วมกันแบบราบรื่นอย่างยั่งยืนได้

การสรุปเช่นนั้นคงนำไปสู่การถามว่า แล้วคนไทยจะทำอย่างไร?  การถามเช่นนี้มีมานานซึ่งผมมักตอบในแนวที่อาจถูกมองว่าเป็นแบบสำเร็จรูป แต่ไม่ใช่ นั่นคือ ทั้งบุคคลและสังคมจะต้องพยายามสร้างเสริมภูมิคุ้มกันไว้ให้เพียงพอ  ภูมิคุ้มกันเป็นหนึ่งใน 5 องค์ประกอบของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาติไทย.