รับมือ ‘ระเบียบโลกใหม่’ ความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ
สงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ที่ดำเนินมาแล้วกว่า 20 วัน ไม่เพียงสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นเท่านั้น แต่กำลังจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกกันว่า ระเบียบโลกใหม่ (New World Order)
สิ่งที่เรียกกันว่า ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์โลกที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แนวคิดการเมือง และเศรษฐกิจโลกขนานใหญ่และกระทบไปกับทุกประเทศทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
แม้จะมีความพยายามจากหลายฝ่ายให้เกิดการเจรจา แต่เมื่อควันไฟจากสงครามในยูเครนมอดดับลงได้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก สหรัฐฯ ยากที่จะกลับคืนไปดีดังเดิม การตอบโต้ทางเศรษฐกิจเป็นลักษณะตาต่อตาฟันต่อรัสเซียที่โดนคว่ำบาตรกำลังผ่านกฎหมายยึดกิจการของชาติที่คว่ำบาตรรัสเซียมาเป็นของรัฐ
สถานการณ์ที่โลกเพิ่งจะเผชิญวิกฤติใหญ่อย่างโควิด-19 จนมาถึงจุดเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะสงคราม คล้ายกับสิ่งที่ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) นักลงทุน และผู้จัดการเฮจฟันด์ขนาดใหญ่ กล่าวถึงไว้ในหนังสือ Principles for Dealing with the Changing World Order บอกว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำที่ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก ศูนย์กลางอำนาจเดิมมักจะเสื่อมถอยลงไปจากปัจจัยวิกฤติหนี้สิน ความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอย่างมาก
ปฏิเสธได้ยากว่าเมื่อโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่นำไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ ประเทศที่มีเป็นผู้นำโลกอย่างสหรัฐฯและจีนมีความสำเร็จในการรับมือกับโควิด-19 ที่แตกต่างกันมาก
หากมองในมิติเศรษฐกิจจีนดูจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกว่า พยายามแก้ปัญหาหนี้เสีย และจัดการปัญหาภายในอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ส่วนสหรัฐฯใช้วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงิน ทำ QE เสริมสภาพคล่องต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้เศรษฐกิจมีความเปราะบางหนี้ต่างประเทศสูง และทำไห้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปมากในบางช่วงเวลา
นโยบายการโดดเดี่ยวรัสเซียของสหรัฐฯก็เป็นส่วนหนึ่งของชะลอการเสื่อถอยจากศูนย์กลางของระเบียบโลกเดิม เมื่อเห็นว่านับวันรัสเซียก็มีความแข็งแรงทางการทหารมากขึ้น และมีความร่วมมือกับจีนที่ก้าวหน้าทั้งแง่ของการค้า ในปี 2564 การค้าจีน - รัสเซียเติบโตขึ้น 36% และทั้งจีนและรัสเซียได้พยายามพัฒนาระบบการชำระเงินทางเลือกของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาระบบที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลัก
โลกที่กำลังจะจัดระเบียบกันใหม่ ในภาวะทรัพยากรที่จำกัด และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กลายเป็นโลกที่ แยกฝั่ง แบ่งขั้ว กันมากกว่าที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่ง การเดินหมาก กำหนดท่าที และจุดยืนในเวทีนานาชาติอย่างมียุทธศาสตร์ถือว่าจำเป็น
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นเพียงปรากฎการณ์หนึ่งที่เห็นจากระเบียบโลกใหม่ ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้มีการใส่ปัจจัยเรื่องความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ไว้ในการบริหารเศรษฐกิจ ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และชาติพันธมิตร รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ และระหว่างกบฏในเยเมนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักมากขึ้นในระยะต่อไป
ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายในประเทศต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง และทำแผนรับมือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นจริงการรับมือทำได้ไม่ง่ายนัก ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น 30% ภายใน 2 สัปดาห์
รัฐบาลต้องมาปรับแผนรับวิกฤติตามหลังก็พอจะบอกได้แล้วว่าการทำงานแบบเดิมและการมองโลกในแง่ดีเกินไปไม่เหมาะกับการแก้ไขวิกฤติในขณะนี้