สงครามยูเครน : จุดเปลี่ยนระเบียบโลก | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ประเด็นร้อนแรงที่สุด ในโลกเศรษฐกิจและการลงทุนในปัจจุบัน คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ภายหลังการตัดสินใจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติ ที่บุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในขณะที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม หากถอยมามองในภาพใหญ่ สถานการณ์เหล่านี้บ่งชี้ถึงการปรับเปลี่ยนระเบียบโลก (World Order) ดังเช่นที่บทความนี้เคยกล่าวไว้ว่า ความปั่นป่วนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ยูเครน อิหร่าน เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน หรือในที่อื่น ๆ
ทั้งหมดนี้ส่วนสำคัญเป็นผลจากการหันหลังให้กับโลกของสหรัฐ หลังจากลดบทบาทในฐานะตำรวจโลกลง รวมถึงส่งสัญญาณว่าไม่พร้อมทำสงคราม ทำให้เกิดสูญญากาศของตำแหน่งผู้นำโลก ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความไม่สงบทั่วโลกมีมากขึ้น
ภาพนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิลักษณ์โลกในหลายจุด เช่น ทั้งการเติบโตของจีนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ความยอมรับของเงินคริปโทในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล (ที่ทางสหรัฐมุ่งเน้นด้านการขุดเจาะและผลิตน้ำมันมานานและละเลยการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า) เป็นต้น
ภาพนี้ตรงกับหนังสือที่ผู้เขียนกำลังอ่านอยู่ อันได้แก่ Principles for Dealing with the Changing World Order ของ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) เจ้าของ Bridgewater Associates ซึ่งเป็น Hedge fund อันดับหนึ่งของโลก
หนังสือเล่มนี้ เริ่มจากสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา เช่น โรคระบาดทั่วโลกที่เกิด 100 ปีครั้ง สงครามขนาดใหญ่ วิกฤตเศรษฐกิจ และการพิมพ์เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ ซึ่งแม้สิ่งเหล่านี้บางสิ่งจะไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงชีวิตเรา แต่ก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ฉะนั้น เราจึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์ในระยะเวลายาว ๆ เพื่อให้เห็นภาพ "วัฏจักรขนาดใหญ่" (Big cycle)
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของดาลิโอในช่วงเวลาหลายพันปี และเชิงลึก 500 ปี รวมถึงศึกษาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของ 4 มหาอำนาจโลก อันได้แก่ ฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) สหราชอาณาจักร สหรัฐ และจีน
ซึ่งสิ่งที่ดาลิโอค้นพบคือ ทุก ๆ 75 ปี +/- 10 ปี จะมีการเปลี่ยนมหาอำนาจหลัก และในขณะนี้ก็ครบ 75 ปีแล้วที่สหรัฐได้ขึ้นเป็นมหาอำนาจหลัก (นับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง) ทำให้เป็นไปได้สูงที่จะตกต่ำในไม่ช้า
สาเหตุของการเกิดและเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจโลกนี้ มีกว่า 17 ปัจจัย แต่มี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) วัฏจักรหนี้ขนาดใหญ่ (2) ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และ (3) การเกิดขึ้นของมหาอำนาจใหม่มาท้าทายมหาอำนาจเดิม
ปัจจัยที่ทำให้ 3 ปัจจัยหลักข้างต้นได้พัฒนาขึ้นได้แก่ การที่เงินตราของมหาอำนาจนั้น ๆ ได้กลายเป็นเงินสกุลหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็น เงินดัชต์กิลด์เดอร์ เงินปอนด์สเตลิงค์ ดอลลาร์ และหยวนในอนาคต
การเป็นเงินสกุลหลัก จะประเทศมหาอำนาจมีอภิสิทธิ์เหนือประเทศอื่น ๆ (Exorbitant privilege) ในการระดมทุน เพราะสามารถพิมพ์เงินได้และคนใช้ทั่วโลก นั่นคือ มีอำนาจในการก่อหนี้จนกระทั่งเป็นหนี้มากขึ้น
การเป็นหนี้มากขึ้น จะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอลง และเกิดความแตกแยกในสังคม นำมาสู่การประท้วงและหากรุนแรงอาจนำมาสู่สงครามการเมือง รวมถึงอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากหนี้ที่มากขึ้น
ในทางกลับกัน ในช่วง 75 ปี +/- 10 ปี จะมีมหาอำนาจใหม่มาท้าทายมหาอำนาจเดิม ซึ่งจะทำให้มหาอำนาจเดิมไม่พอใจและเกิด 5 สงครามคือ สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี สงครามทุน สงครามภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามทางทหาร
(ซึ่งน่าประหลาดใจว่า ทั้ง 5 สงครามที่ ดาลิโอ กล่าวถึงนั้น ตรงกับ 4 สงครามที่ผู้เขียนได้คิดขึ้นทุกตัวอักษร ยกเว้นสงครามภูมิรัฐศาสตร์และสงครามทางทหารที่ผู้เขียนรวมเป็นสงครามเดียวกัน) ที่อาจจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของมหาอำนาจเดิม หรือแม้จะไม่แพ้แต่ก็จะอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของสหรัฐ ดาลิโอมองว่าเข้าสู่จุดสูงสุดของอำนาจในช่วง 1985-1990 และปัจจุบันความยิ่งใหญ่ในมิติต่าง ๆ เช่น การทหาร เศรษฐกิจ เริ่มลดลง ขณะที่ความแข็งแกร่งของจีนได้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ปัจจัยหลักอย่างหนี้ประชาชาติ (รัฐ เอกชน และครัวเรือน) ที่สูงมาก (277% GDP) เศรษฐกิจที่ชะลอลง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่มากขึ้น
ในขณะที่อีก 8 ปัจจัยรอง แม้ยังคงแข็งแกร่งแต่ก็เริ่มมีความเสื่อมถอย เช่น การศึกษา (ที่ดีเฉพาะอุดมศึกษาขึ้นไป) การทหาร (เริ่มด้อยลง) ดอลลาร์ในฐานะเงินสกุลหลัก (เริ่มถูกท้าทายโดยสกุลอื่นและคริปโต) และการค้า (ขาดดุลตลอด) เป็นต้น จะยังแข็งแกร่งเพียง 2 จุด ได้แก่ ความแข็งแกร่งของระบบการเงินและนวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคระบาดที่จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งเช่นกัน
ในทางกลับกัน จีนกำลังแข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ใน 3 ปัจจัยหลัก จะมีความเสี่ยง แต่ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น (1) เศรษฐกิจยังคงเติบโตดีแม้จะชะลอลง (2) หนี้ประชาชาติที่สูง (263% GDP) แต่ก็เป็นหนี้ในประเทศเป็นหลัก ต่างจากสหรัฐที่เป็นหนี้ต่างประเทศ (3) ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นยังสูง แต่ก็ลดทอนลงจากมาตรการรัฐบาล (Common prosperity) ในขณะที่อีก 8 ปัจจัยยังมีความแข็งแกร่งมาก เช่น การค้า การศึกษา เทคโนโลยี และการทหาร เป็นต้น
ในมุมมองผู้เขียน แม้ไม่เห็นด้วยกับดาลิโอทั้งหมด โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าจีนแข็งแกร่งมาก แม้จะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำชนชั้น หรือหนี้ประชาชาติที่สูง แต่การบริหารจัดการจากส่วนกลาง (Central command) จะแก้ปัญหาเหล่านั้น
ผู้เขียนมองว่า ระบบบริหารจัดการจากส่วนกลางทั้งหมด จะกดดันการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะแนวนโยบาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ Common prosperity ที่จะกดดันกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อันเป็นธุรกิจที่นวัตกรรมสูง ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่อไป
แต่ผู้เขียนก็เห็นด้วยกับดาลิโอในภาพใหญ่ ที่ว่าระเบียบโลกเดิมที่นำโดยสหรัฐกำลังเริ่มตกต่ำลง และเห็นว่า เป็นไปได้ที่โลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะมีระเบียบโลกใหม่ที่คุมโดยจีนและชาติที่ไม่ได้เป็นเสรีประชาธิปไตยในรูปแบบของโลกตะวันตกที่เราคุ้นเคย ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากโลกปัจจุบันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
ระเบียบโลกใหม่กำลังก่อตัวแล้ว นักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายของไทย เตรียมตัวแล้วหรือยัง.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
คอลัมน์ : Global Vision
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]