Health Brings Wealth (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

Health Brings Wealth (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในหนังสือ Health Brings Wealth นั้น บทที่ผมให้ความสนใจมากคือบทที่ 6 ว่าด้วยการป้องกันโรคหัวใจ ซึ่งโรคหัวใจขาดเลือด (Ischaemic heart disease) นั้นเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดในโลกจากข้อมูลของ WHO

เมื่อปี 2019 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจขาดเลือดมากถึง 8.9 ล้านคนในปีดังกล่าว เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2000 แปลว่ามีคนที่เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากทุกปี (ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 6.2 ล้านคนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจาก COVID-19)

    ทำไมจึงมีคนเสียชีวิตเพราะโรคนี้จำนวนมากและจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือ “Health Brings Wealth” บทที่ 6 อธิบายให้รู้ว่าในเวลาช่วงหลายล้านปีที่มนุษย์อาศัยอยู่บนโลกนั้น เรามีอายุขัย (life expectancy) เพียง 40 ปีเท่านั้น 

ยกเว้นใน 100 ปีที่ผ่านมาซึ่งเทคโนโลยีช่วยขจัดโรคติดต่อต่างๆ และลดภัยอันตรายต่างๆ ทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เช่นที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ แต่ปัญหาคือในช่วงที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดนั้น มนุษย์เริ่มมีลูกตั้งแต่อายุ 16-20 ปีและเมื่ออายุ 30 ปลายๆ ก็มีทั้งลูกและหลานนับสิบคนแล้ว และมักเสียชีวิตตอนอายุประมาณ 40 ปี 

แปลว่ายีนที่ทำให้มนุษย์เป็นโรคหัวใจตอนแก่ตัว ไม่สามารถถูกกำจัดออกไปจากระบบพันธุกรรม โดยกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) หมายความว่ายีนดังกล่าวจึงยังอยู่ในมนุษย์อย่างครบถ้วนและเมื่ออายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นเท่าตัว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าโรคหัวใจจึงได้กลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์มากที่สุดในโลกในปัจจุบันนี้

    Prof Fazio ผู้ที่เขียนบทนี้ยืนยันว่าหัวใจมนุษย์เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและทนทานอย่างมากเป็นกล้ามขนาดใหญ่ที่ต้องทำงานตลอดเวลา เราจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ หัวใจมนุษย์เป็นกล้ามเนื้อที่สามารถทำหน้าที่ปั๊มเลือดได้ต่อเนื่อง 2 พันล้านครั้ง โดยที่กล้ามเนื้อไม่สึกหรอเลยหากเราดูแลหัวใจด้วยความ “เอาใจใส่” 

(การที่หัวใจทำงานได้ 2 พันล้านครั้งนั้นโดยที่กล้ามเนื้อไม่สึกหรอนั้น แปลว่ามนุษย์สามารถพึ่งพาหัวใจให้ทำงานเพื่อให้เรามีชีวิตได้เป็นร้อยปี)

ปัญหาคือเรามักจะกินอาหารหรือดำเนินชีวิต ซึ่งทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดอาการตีบตันไปด้วยแคลเซียมและไขมัน นอกจากนั้นมนุษย์ก็ยังสะสมยีนต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจ

เช่น ยีนที่ทำให้คอเรสเตอเรลในเลือดสูง หรือยีนที่ทำให้เกิดการอักเสบ (inflammation) ซึ่งส่งผลให้เส้นเลือดตีบตันได้ในที่สุด 

ผมค้นพบบทความล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Circulation: Genomic and Precision Medicine เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2021 รายงานผลการวิจัยของ Icahn School of Medicine at New York’s Mount Sinai ค้นพบยีนในมนุษย์มากถึง 162 ชนิดที่มีส่วนทำให้เสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจ 

Health Brings Wealth (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ทั้งนี้ได้มีการเรียงลำดับความสำคัญของยีนดังกล่าวโดยสรุปว่ามียีนที่นักวิจัยประเมินว่ามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดโรคหัวใจสูงสุด 22 ชนิด โดยยีนที่สำคัญที่สุดได้แก่ CDKN2B และ PHACTR1

    แปลว่าการตรวจสอบดีเอ็นเอนั้นน่าจะเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่สำคัญในการประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่ยังอายุน้อย (อายุประมาณ 40 ปี) และยังไม่มีอาการอะไร 

เพื่อให้ได้รับรู้ข้อมูลและประเมินความเสี่ยงในอนาคต ตลอดจนการปรับการดำเนินชีวิตเสียแต่เนิ่นๆ หากพบว่ามียีนที่เพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ แต่หากอายุมากขึ้นแล้ว เช่น อายุ 55 ปีหรือมากกว่า ก็อาจต้องทำการตรวจเส้นเลือดหัวใจอย่างละเอียด โดยใช้การฉีดสีเข้าเส้นเลือดที่เรียกว่า CT (Computerized tomography) angiography เป็นต้น 

บทนี้ยังให้ข้อคิดที่สำคัญคือการเตือนใจเราว่า “your genetics, load the gun but your lifestyle pulls the trigger” กล่าวคือ ยีนเพิ่มความเสี่ยง แต่การดำเนินชีวิตก็ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดว่าจะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจตอนสูงวัยใด้หรือไม่

    อีกบทที่สำคัญคือบทที่ 7 ว่าด้วยการดูแลสุขภาพของสมอง ซึ่งแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงตลอดไป 5 ประการนั้นก็สามารถนำมาใช้ได้กับการดูแลสมองเช่นกัน 

ตัวอย่างเช่น การที่ผู้เขียนบทนี้คือ Prof Keith Black กล่าวว่าการอดอาหารจะมีส่วนช่วยให้สมองมีความสมบูรณ์และอายุยืน (optimizing brain wellness and longevity) โดยคำแนะนำคือให้อดอาหารทุกวันวันละ 12 ชั่วโมงและยังแนะนำให้อดอาหารหนึ่งวัน (24 ชั่วโมง) ในแต่ละเดือน เป็นต้น 

Health Brings Wealth (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

อีกข้อคิดหนึ่งคือการนำเสนองานวิจัยที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่พบว่าการมีแบคทีเรียที่ดีในลำไส้และกระเพาะอาหารนั้น น่าจะมีความสำคัญอย่างมากในการดูแลให้สมองมีความสมบูรณ์

แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่ละเอียดและครบถ้วนในขณะนี้ ซึ่ง Prof Keith Black สรุปว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพส่วนใหญ่แนะนำให้กินโปรไบโอติกซึ่ง Prof Black เองก็กินโปรไบโอติกเช่นกัน 

สำหรับผมนั้นข้อแนะนำที่สำคัญอีก 2 ข้อคือ
1.การมีปัญหาความดันโลหิตสูงกับการเป็นโรคเบาหวานนั้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมประเภท vascular dementia คือการที่มีเลือดเข้าไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
2.ข้อสรุปของงานวิจัยที่มีคุณภาพหลายชิ้นที่พบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ

ในส่วนของสมองนั้นยีนก็มีความสำคัญเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เป็นเรื่องที่ทราบกันอย่างแพร่หลายแล้วว่า มนุษย์มียีนที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียงไขมัน (lipids) คือ APOE อยู่ 3 ชนิด e2, e3 และ e4 

ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่สรุปว่า คนที่โชคดีมียีน APOE ประเภท e2 ผสมอยู่นั้น จะมีโอกาสน้อยที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในขณะที่หากมี e3/e3 ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในคนส่วนใหญ่นั้น ก็จะมีความเสี่ยงปกติ

 แต่หากโชคไม่ดีได้รับยีน APOE ที่เป็น e3/e4 ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าปกติประมาณ 2 เท่า ในขณะที่คนซึ่งมียีน APOE ที่เป็น คู่ e4/e4 นั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นถึง 4 เท่า

Health Brings Wealth (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

นอกจากนั้น ผมยังพบงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อ 4 เมษายน 2022 ในวารสาร Nature Genetics ที่อาศัยเทคโนโลยีเกี่ยวกับการตรวจสอบและเปรียบเทียบ ดีเอ็นเอและยีนของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ 111,326 คน เทียบกับคนปกติ (control) 667,663 คน ใน 8 ประเทศ ซึ่งพบว่ามียีนมากถึง 75 ยีนที่มีผลต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยยีน 42 ยีนที่ค้นพบในงานวิจัยนี้เป็นยีนใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน

การมียีนหรือไม่มียีนที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นเป็นเรื่องที่เราทำอะไรไม่ได้ แต่ในอีกงานวิจัยหนึ่งตีพิมพ์เมื่อ 23 มีนาคม 2022 ตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s and Dementia 

โดยนำเอาข้อมูลประวัติการวิจัยสุขภาพของคนสหรัฐใน Framingham Heart Study 4,932 คน พบว่าคนอายุกลางคนที่มีระดับไขมันดี (HDL) ต่ำ ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์และระดับน้ำตาลในเลือดสูงนั้น จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อสูงอายุ 

ตัวอย่างเช่น หากออกลังกายอย่างเป็นประจำเพื่อช่วยทำให้ระดับ HDL ในเลือดสูงขึ้น 15 mg/dL ก็จะลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อแก่ตัวไปได้ประมาณ 15-18% เป็นต้น 

ในขณะที่ระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น 15 mg/dL ตอนอายุกลางคนก็จะทำให้ความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ตอนแก่ตัวลงเพิ่มขึ้น 14.5% เป็นต้น การที่ HDL ต่ำและไตรกลีเซอร์ไรด์กับน้ำตาลในเลือดสูงนั้นก็ย่อมจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจตอนแก่ตัวอีกด้วย.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร 
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร