“แก้มลิงเงินเฟ้อ” กำลังจะหมดไป | พงศ์นคร โภชากรณ์

“แก้มลิงเงินเฟ้อ” กำลังจะหมดไป | พงศ์นคร โภชากรณ์

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันและปัจจัยการผลิตสูงขึ้น

สะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index หรือ CPI) เมื่อนำมาคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงแล้ว เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ซึ่งสะท้อนราคาสินค้าในท้องตลาดที่ผู้บริโภคซื้อ

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี

เบื้องหลัง คือ การสูงขึ้นราคาในหมวดพลังงาน ไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าในเดือนเมษายนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาข้าวของที่ผู้บริโภคต้องซื้อแพงขึ้น 

แต่อย่างไรก็ตาม เดือนที่แล้วรัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ทำให้ผลกระทบต่อกระเป๋าตังค์ของประชาชนบรรเทาลงได้บ้าง

อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามมากกว่า คือ ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index หรือ PPI) วัดจากราคาสินค้า 501 รายการ ที่ผลิตและขายออกจากโรงงานหรือแหล่งผลิต โดยไม่รวมค่าขนส่งและภาษีมูลค่าเพิ่ม 

แม้ขาออกจะไม่รวมแต่ขาเข้าไปผลิตในโรงงาน ต้องมีการรวมต้นทุนและภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในราคาปัจจัยการผลิตอยู่แล้ว 

ทำไมผมถึงดูตัวนี้ ข้อดีคือ 
1) มีการเก็บราคาสินค้าบางตัวเป็นรายสัปดาห์ ทำให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิต 
2) มีการจำแนกขนาดของผู้ผลิตเล็ก กลาง ใหญ่ 
3) มีการเก็บราคาตามกิจกรรมการผลิต (อุตสาหกรรม เกษตรกรรมและประมง และเหมืองแร่) และขั้นตอนการผลิต (สำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบ) และ 
4) เปรียบเสมือนการวัดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่มาจากผู้ผลิต เพราะผู้ผลิตเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงและราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้น 

“แก้มลิงเงินเฟ้อ” กำลังจะหมดไป | พงศ์นคร โภชากรณ์

ซึ่งสะท้อนต้นทุนของผู้ผลิตที่สูงขึ้น หากผู้ผลิตต้องการรักษากำไรที่พึงประสงค์เอาไว้ ก็สามารถผลักภาระต้นทุนนั้นไปยังผู้บริโภคได้ 

และหากต้นทุนปัจจัยการผลิต ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าจ้าง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาระอาจจะไปตกกับผู้บริโภคมากขึ้น 

ในเดือนมีนาคม ราคาผู้ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นรุนแรงกว่าถึงร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี 

หากพิจารณาตามกิจกรรมการผลิต จะพบว่า 
1) ผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

2) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตัวที่ขึ้นแรงในหมวดนี้คือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 

3) ผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตัวที่ขึ้นแรงในหมวดนี้คือปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

และหากพิจารณาตามขั้นตอนการผลิต จะพบว่า 
1) ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 
2) ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 
3) ผลิตภัณฑ์วัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มถึงร้อยละ 53.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 ดังนั้น ห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหาร จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่ง 

“แก้มลิงเงินเฟ้อ” กำลังจะหมดไป | พงศ์นคร โภชากรณ์

ผมลองนำอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ผู้ผลิตขายและราคาสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่า ราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาผู้บริโภคมาตั้งแต่ต้นปี 2564 แล้ว และมีช่องว่างเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

สะท้อนว่าเมื่อดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่ม ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มตามทันที แต่ในอัตราที่ไม่เท่ากัน นั่นเพราะรัฐบาลหน่วงหรือตรึงราคาเอาไว้ 

ผมเรียกพื้นที่สีฟ้าในรูปว่า “แก้มลิงเงินเฟ้อ” หมายถึง พื้นที่ที่รัฐบาลเข้ามาช่วยชะลอการไหลเพิ่มของต้นทุนเข้าไปแฝงอยู่ในราคาสินค้าที่ผู้บริโภคชื้อ 

เสมือนเป็นการกดเงินเฟ้อหรือราคาสินค้าเอาไว้ไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากจนเกินไป (เปรียบเสมือนการป้องกัน/ชะลอน้ำท่วมในพื้นที่เป้าหมาย) 

การที่ราคาสินค้าที่ออกจากโรงงานหรือแหล่งผลิตมีอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วและแรงกว่าราคาสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อ 

“แก้มลิงเงินเฟ้อ” กำลังจะหมดไป | พงศ์นคร โภชากรณ์

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในตะกร้าราคาสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อมีสินค้าพวกน้ำมัน เชื้อเพลิง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ที่รัฐบาลช่วยตรึงราคาเอาไว้ ไม่ให้ขึ้นแบบ 1 ต่อ 1 กับราคาพลังงานของโลก และยังมีสินค้าควบคุมราคาอีกหลายรายการ

 แต่หากปล่อยให้ราคาน้ำมัน เชื้อเพลิง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก (ไม่ต้องกดเส้นสีส้มเอาไว้) ย่อมทำให้ภาระต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตและผู้รับขนส่งสินค้า ถูกผลักไปเป็นราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องซื้ออย่างแน่นอน 

ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคนหนีไม่พ้นคนหาเช้ากินค่ำ รายได้ยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 ยังมาเจอของแพงจากสงครามอีก 

ฉะนั้น อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิต จึงถือเป็นตัวแปรชี้นำราคาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ดังนั้น สิ่งที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม (หากไม่มีการตรึงราคาแล้ว) ไม่สามารถใช้แก้มลิงชะลอการไหลเพิ่มของต้นทุนได้ เงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร 

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าน่าจะเป็นเดือนที่เงินเฟ้อสูงสุดในปี 2565 เมื่อราคาขึ้นแล้วคงไม่มีทางลงอีก 

และเมื่อเราไม่มีเครื่องมือในการตรึงราคาแล้ว หลังจากนี้จะมีเครื่องมือ มาตรการ หรือโครงการอะไรใหม่ ๆ ออกมาช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ผลิตและผู้ขนส่ง และช่วยรักษากำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภคบ้าง.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

“แก้มลิงเงินเฟ้อ” กำลังจะหมดไป | พงศ์นคร โภชากรณ์
คอลัมน์ ตีโจทย์เศรษฐกิจ 
พงศ์นคร โภชากรณ์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  
[email protected]