จับสัญญาณ "เงินเฟ้อ" อุปสรรคการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปัญหาใหญ่ปี 65

จับสัญญาณ "เงินเฟ้อ" อุปสรรคการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปัญหาใหญ่ปี 65

กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตรา เงินเฟ้อเดือน ม.ค.65 สูงถึง 3.23% อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่มีการฟื้นตัวอย่างข้าๆหลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากการระบาดของโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้จะได้รับการอธิบายจากหน่วยงานของรัฐว่าจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวตามหลักดีมานต์ – ซัพพลาย เมื่อสินค้าบางชนิดมีความต้องการมากขึ้น แต่สินค้าในตลาดน้อยลงสุดท้ายราคาก็จะเพิ่มขึ้น เรื่องของสุกรเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าราคาเนื้อหมูปรับสูงขึ้นรวดเร็วเกือบเท่าตัวในระยะเวลาไม่นาน

แต่การอธิบายเรื่องของแพงโดยหลักการดังกล่าวอย่างเดียวไม่สามารถเข้าใจ “กำลังซื้อ” และปัญหาปากท้องของคนไทยส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง เพราะปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไปซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่คนกลุ่มหนึ่งพึ่งพารายได้จากภายนอก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่รายได้ลดลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบกับกระเป๋าเงินคนในไทย และเรื่องนี้รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากตรึงราคาน้ำมันดีเซล และใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯเข้าไปชดเชยค่าก๊าซหุงต้มเพื่อลดภาระให้กับประชาชน

ปัญหาเงินเฟ้อในไทย ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เงินในกระเป๋าคนลดน้อยลงจึงเป็นอุปสรรค ลดทอนกำลังซื้อ จนเป็นที่มาของการเข็นโครงการคนละครึ่งเฟสที่ 4 ออกมาก่อนกำหนด20 วัน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพบางส่วนให้ประชาชน

ปัญหาเงินเฟ้อที่หนักหน่วงสะท้อนผ่านตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ที่กระทรวงพาณิชย์ แถลงเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.2565 ทะยานขึ้นแตะ 3.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อน สูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลได้วางไว้ที่ 1 – 3% โดยสูงกว่ากรอบบนไปถึง 0.23%

ทั้งนี้เมื่อไปดูใส้ในของเงินเฟ้อเดือน ม.ค.ส่วนที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากที่สุดคือหมวดของค่าใช้จ่ายในหมวดพลังงาน ทั้งค่าใช้จ่ายจากพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มถึง 9.44% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังไม่เพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเนื้อสุกร น้ำมันพืช อาหาร

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือเมื่อไปดูเงินเฟ้อรายภูมิภาค พื้นที่ที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากคือพื้นที่ภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น 3.63% รองลงมาคือภาคกลาง 3.52% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 2.89% ส่วนภาคเหนือและกทม.-ปริมณฑล เพิ่มขึ้น 2.7%

กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ที่ 0.7 – 2.4% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.5% โดยมีสมมุติฐานว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 63 – 73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ปัจจุบันน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.5 – 4.5%

จับสัญญาณ \"เงินเฟ้อ\" อุปสรรคการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปัญหาใหญ่ปี 65

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีมุมมองที่กังวลต่ออัตราเงินเฟ้อในไทยมากกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประเมิน โดยมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ขึ้นจาก 1.2 – 2.2% เป็นกรอบ 1.5-2.5% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% ได้ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่าที่ประมาณการได้

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาสินค้าและบริการในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนเริ่มส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน

โดยรวมแล้วเศรษฐกิจปี 2565 มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ เมื่อรวมกับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้หลายช่องทาง รวมถึงเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาน้ำมันและก๊าซจะเพิ่มสูงขึ้นได้หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก จนกระทบกับผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวม  
 

ก่อนหน้านี้สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เคยระบุว่ารัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจมีการติดตามสถานการณ์เงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด หากเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นไปเกินกรอบบนที่ 3% จะมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นการเร่งด่วน โดยเรื่องนี้ธปท.เองก็เคยกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาไว้ตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่มองเห็นสัญญาณเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเงินเฟ้อเกินกว่า 3% แล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยภายนอกหรือภายในประเทศ จำเป็นที่หน่วยงานเศรษฐกิจจะต้องหารือกันว่าจะเอาอย่างไรต่อไป จะรอดูสถานการณ์ว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้ามาสู่กรอบปกติหรือไม่ หรือจะมีมาตรการเร่งด่วนออกมาก่อน เพราะในการกำหนดการแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้กำหนดไว้แล้วว่า ...กรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตกลงกันร่วมมือแก้ไขได้ก่อน และจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณารับทราบต่อไป

ส่วนเงินเฟ้อในขณะนี้จะแก้ไขได้ด้วยนโยบายทางการเงินหรือไม่ เป็นเรื่องที่หน่วยงานเศรษฐกิจจะตัดสินใจอย่างรอบครอบที่สุด