'เงินเฟ้อพุ่ง'ปัญหาเร่งด่วนของอาเซียน
'เงินเฟ้อพุ่ง'ปัญหาเร่งด่วนของอาเซียน แม้เงินเฟ้อจะอยู่ในเพดานการควบคุมของธนาคารกลางอินโดนีเซียแต่ข้าวของแพงเริ่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศแล้ว
ตอนนี้้ นอกจากจะรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19แล้ว ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังออกมาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อพุ่ง ซึ่งเป็นผลพวงจากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ดัชนีซีพีไอเดือนม.ค.ของอินโดนีเซีย ทะยานสูงสุดในรอบ 20 เดือน ส่วนสิงคโปร์อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค.เพิ่มเป็น4% และมาเลเซีย เร่งควบคุมราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่ทะยานขึ้นมากจนทำให้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในเดือนธ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2%
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียจะอยู่ในอัตราการควบคุมของธนาคารกลาง แต่ทางการก็ต้องเร่งบรรเทาอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงมากกว่านี้เพราะปัญหาข้าวของแพงเริ่มส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศแล้ว
ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติอินโดนีเซีย ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ(2ก.พ.)ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ)ของอินโดนีเซียปรับตัวขึ้น 2.18% ในเดือนม.ค.ถือว่าปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปี 2563
“อัตราเงินเฟ้อในเดือนม.ค.เป็นผลมาจากปริมาณสินค้าที่มีอย่างจำกัดจนส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งยังบ่งชี้ว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปัญหาคอขวดในระบบซัพพลายเชนมากกว่าความต้องการของผู้บริโภคฟื้นตัว”มาร์โก ยูโวโน หัวหน้าสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย กล่าว
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย กำหนดเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 2-4% แต่รัฐบาลวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าที่จำเป็น ในช่วงที่่รัฐบาลพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตเหมือนเดิม หลังจากเศรษฐกิจบอบช้ำอย่างหนักเพราะการระบาดของโรคโควิด-19
ดัชนีซีพีไอประเภทอาหาร เครื่องดื่มและบุหรี่ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 3.45%ปีต่อปี ถือเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือนเป็นอย่างน้อย ขณะราคาอาหารสำคัญๆอย่างเช่น ไก่ ข้าว และไข่ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ส่วนน้ำมันปรุงอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ข้อมูลจากเว็บท่าที่สังเกตุการณ์ด้านราคาของกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย ระบุว่า ราคาน้ำมันพืชปริมาณมากและที่บรรจุถุงเล็กๆปรับตัวขึ้นประมาณ 40%
เพื่อควบคุมราคาไม่ให้สูงกว่านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลได้กำหนดเพดานต้นทุนราคาน้ำมันปาล์มดิบไว้ที่กิโลกรัมละ 9,300 รูเปี๊ยะห์ (65 เซนต์) รวมทั้งออกกฎให้บรรดาผู้ประกอบการด้านน้ำมันพืชขายน้ำมันดิบแก่ตลาดท้องถิ่นในสัดส่วน 20% ของปริมาณการส่งออกโดยรวม
“เรากำหนดให้ผู้ผลิตเร่งกระจายน้ำมันสำหรับปรุงอาหารในทันทีเพื่อสร้างหลักประกันว่าทั้งพ่อค้าและผู้ค้าปลีกในตลาดจะไม่เจอปัญหาขาดแคลนน้ำมันชนิดนี้ ขณะที่ในส่วนของชุมชนต่างๆนั้น เราเรียกร้องพวกเขาว่าอย่าตระหนกตกใจกับสถานการณ์ด้านราคาจนต้องกักตุนสินค้าเพราะเรารับประกันว่าน้ำมันพืชยังคงมีขายในท้องตลาดและขายในราคาที่ทุกคนสามารถซื้อได้”มูฮัมหมัด ลัตฟิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย กล่าว
ด้าน“เพอร์รี วาร์จิโย” ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ธนาคารกลางมีแผนปรับเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด
เพอร์รี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวนี้ ไม่ควรถูกตีความว่าธนาคารกลางกำลังคุมเข้มนโยบายการเงิน แต่เป็นการปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากอินโดนีเซียแล้ว มาเลเซียก็เผชิญปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน โดยราคาสินค้าแพงขึ้น 3.2% ในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว และรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าประเภทอาหารบางชนิด เช่น ข้าว และเนื้อ
"อเล็กซานเดอร์ นันตา ลิงกี“ รัฐมนตรีการค้าภายในประเทศและกิจการผู้บริโภคของมาเลเซีย กล่าวว่า เมื่อดูจากแนวโน้มของโลก มาเลเซียน่าจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อสูงขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับหนึ่งปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของประเทศในช่วงเดือน ม.ค.- ธ.ค.2564 เพิ่มสูงขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อหดตัว 1.2% ในช่วงเดียวกันของปี 2563
ลิงกี บอกว่า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อตรึงราคาอาหารสำคัญ ๆ เช่น ข้าว และเนื้อ โดยให้เงินอุดหนุน หรือ ความช่วยเหลือรูปแบบอื่น เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะสามารถซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นในราคาที่จับจ่ายได้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาเลเซียประกาศจัดสรรงบ 680 ล้านริงกิตเพื่อตรึงราคาสินค้าจำเป็น และธนาคารกลางยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 1.75% ต่อไป
ลิงกี ยังบอกด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอาหารหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และรัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมราคาสินค้าจำเป็นนานขึ้น เพราะราคาอาหารยังปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่คณะกรรมการธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ประกาศใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินผ่านทางการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนแทนการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น หรืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เป็นคู่ค้าหลักของสิงคโปร์ภายในกรอบเป้าหมายที่เอ็มเอเอสกำหนดไว้
การปรับนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนี้ เอ็มเอเอสดำเนินการใน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER)
การประกาศใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของ เอ็มเอเอสมีขึ้น หลังจากทางการสิงคโปร์เปิดเผยดัชนีซีพีไอเดือนธ.ค.ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบเกือบ 8 ปี