"Whistleblower" กรณีศึกษาการค้ามนุษย์
กรณีการลี้ภัยในออสเตรเลียของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่าง
เมื่อบทสัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณ เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในไทย อันปรากฏอยู่ในหลายสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะล่าสุดในสารคดี Thailand’s Fearless Cop ของอัลจาซีรา ซึ่งถือเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลโดยเฉพาะในโลกอาหรับ ถือเป็นกรณีศึกษาและหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่สมควรรักษาชื่อเสียงของชาติในการทำให้ประเด็นข้อกล่าวหานี้เป็นที่กระจ่าง
คำให้สัมภาษณ์ของพล.ต.ต.ปวีณ ถึงการจับกุมผู้ต้องหาจำนวนมาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้าคหบดี ในหลายจังหวัด สามารถเรียกได้ว่าเป็นเครือข่ายโยงใยเชื่อมต่อกันเป็นขบวนการค้ามนุษย์ที่ใหญ่มาก
ข้อกล่าวหาที่ระบุตัวถึงรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ทำการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ไม่เพียงแต่ทำผู้ถูกกล่าวหาเสียหายแต่ยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศชาติย่ำแย่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่สมควรพิจารณาและตอบกลับข้อกล่าวหาเหล่านี้ด้วยข้อเท็จจริงเพื่อรักษาชื่อเสียงหน้าตาของประเทศชาติ
สิ่งที่ พล.ต.ต.ปวีณ สอบสวนค้นหาความจริงและบทสัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ หากเป็นเรื่องจริงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญ จากอดีตที่ทำหน้าที่เป็นผู้สืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการค้ามนุษย์และปัจจุบันในฐานะผู้ลี้ภัยและเป็นผู้แจ้งเบาะแส (whistleblower) เพิ่มเติมเพื่อขุดค้นให้ถึงรากและตัวการของปัญหา
การกระทำที่กล้าหาญในการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลอันส่อไปในทางไม่สุจริตในองค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนนั้นในปัจจุบันนิยมใช้คำว่า whistleblower ซึ่งแปลตรงตามตัวศัพท์ได้ว่า ผู้เป่านกหวีด ซึ่งโดยนัยสำคัญนั้นหมายถึง ผู้ที่พูดหรือแสดงออกมาว่าในองค์กรนั้นๆมีความไม่ชอบมาพากลสมควรที่ได้รับความสนใจและอาจจะมากไปถึงการสอบสวนหาข้อเท็จจริง
เรามักจะได้ยินกรณี whistleblower บ่อยครั้งโดยเฉพาะในต่างประเทศ อาทิ กรณีข้อกล่าวหาของหน่วยงานความมั่นคงต่อผู้บังคับบัญชา อดีตประธานาธิบดีทรัมพ์ในช่วงก่อนเลือกตั้งว่า มีว่าแทรกแซงและร้องขอให้ประธานาธิบดียูเครนเพ่งเล็งธุรกรรมของอดีตรองประธานาธิบดี Biden และครอบครัว คู่แข่งในการเลือกตั้งในครั้งนั้น หรือกรณีของนาย Edward Snowden อดีตลูกจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติที่เปิดโปงข้อมูลลับของทางราชการสหรัฐจนต้องลี้ภัยอยู่ในรัสเซียในปัจจุบัน
วัฒนธรรมของไทยและเอเชียเรานั้นค่อนข้างขัดกับหลักการเปิดโปงหรือ whistleblower นี้ เพราะเรามักจะถูกสอนให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า การทำงานเช้าชามเย็นชาม ทำดีแต่อย่าให้เด่นเพราะจะเป็นภัย และที่สำคัญที่สุด อย่ายุ่งเรื่องชาวบ้าน ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ปัญหาต่างๆโดยเฉพาะการทุจริตในองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่ซุกอยู่ใต้พรม และเป็นต้นตอของปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย
อย่างไรก็ตามสามัญสำนึกที่ดี จิตใจที่เป็นธรรม และความกล้าหาญย่อมสามารถเอาชนะความเชื่อเก่าๆที่เป็นตัวถ่วงการพัฒนา เช่นกรณีของ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ น.ส.ณัฐกานต์ หมื่นพล ลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น จนมีการขยายผลตรวจสอบไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น หากมองด้วยใจที่เป็นธรรมแล้ว เมื่อเกิดกรณี whistleblower ออกมา ผู้บริหารจึงควรรับฟังและพิจารณาสอบสวนตามข้อกล่าวอ้างและที่สำคัญที่สุดคือให้ความยุติธรรมต่อผู้ฟ้องและผู้ถูกกล่าวหา อำนวยกระบวนการสอบสวนที่ยุติธรรมไร้อคติ ไม่ปกป้องพวกพ้องเพื่อผลประโยชน์และชื่อเสียงขององค์กร อย่างกรณีของพล.ต.ต.ปวีณ ซึ่งผู้เสียหายที่สุดก็คือประเทศชาติ
แต่นั่นคือคำตอบในเชิงอุดมคติ ซึ่งยังมีช่องว่างห่างพอควรกับโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนในการเรียกร้องกดดันให้ช่องว่างเหล่านี้ลดลงโดยการเป็นหูเป็นตาช่วยรัฐตรวจสอบและถ่วงดุล