ทำไม “ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่ง” หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5%? | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
หลายคนคงจะออกจะงุนงงว่าเหตุไฉนเมื่อ เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
รวมถึงจะเริ่มลดขนาดงบดุลเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มต้นในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ และจากนั้นจะลดขนาดงบดุลเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตลาดหุ้นสหรัฐจึงพาเหรดกันขึ้นมากว่าร้อยละ 3 ในทุกตลาด บทความนี้ จะขอตอบคำถามดังกล่าว ดังนี้
1.ก่อนอื่นต้องบอกว่า ตลาดหุ้นสหรัฐยังไม่ได้พุ่งขึ้นมาอย่างที่เห็นกันหลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย ทว่าทันทีที่พาวเวลตอบคำถามที่ว่าแนวคิดเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ยังไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างจริงจังในการประชุม ตลาดหุ้นสหรัฐก็พุ่งขึ้นมาในแดนเขียวอย่างรวดเร็ว ณ วินาทีนั้น
ก่อนหน้าการประชุมรอบนี้ มีการคาดหมายว่ามีโอกาสสูงที่เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ในปีนี้ ซึ่งตรงนี้ ยังทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีสหรัฐลดลงมาในทันที รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนลง รวมถึงราคาทองคำก็พุ่งสูงขึ้น
2.นอกจากนี้ พาวเวลยังมองตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ PCE inflation ล่าสุด ที่มีการชะลอลง อาจเป็นไปได้ที่จะใกล้ถึงในบริเวณที่สูงสุด เนื่องจากตัวเลขเริ่มมีการขึ้นแบบช้าลง ทว่าพาวเวลก็ยังอยากให้จับตาดูไปอีกพักหนึ่ง เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อประเภทอื่นๆยังถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่
กระนั้นก็ดี ทางพาวเวลก็ไม่ได้ประมาทในประเด็นเงินเฟ้อ โดยได้ยกย่องพอล โวลเกอร์ว่าเป็นบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจของเขาในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ โดยเขาจะเลียนแบบโวลเกอร์ในการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในการต่อสู้กับเงินเฟ้อในครั้งนี้
3.ในถ้อยแถลงนโยบายการเงินของเฟด ไม่ได้มีการเน้นในการกล่าวถึงปัจจัยเงินเฟ้อที่เกิดมาจากอุปสงค์มากเท่าไรนัก เพียงแต่ย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุดที่ชะลอลงถือว่ายังไม่น่าห่วง เนื่องจากภาคการบริโภคและการลงทุนด้านธุรกิจยังคงมีแข็งแกร่งอยู่มาก
โดยเฟดย้ำว่าปัจจัยอุปทานอย่าง รัสเซียบุกยูเครน และ เหตุการณ์ล็อคดาวน์ในจีน น่าจะมีผลต่อปัจจัยเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วงนี้ ซึ่งตรงนี้ ถือว่าเฟดอาจยังไม่มองไปถึงการที่ค่าจ้างจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระยะยาวมากนัก
4.สำหรับมาตรการการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet Reduction) ของเฟด จากเดิมที่คาดกันว่าจะเริ่มด้วยการลดเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในทันที ทว่าเฟดใช้ความเร็วในการลดงบดุลเฟดที่ต่ำกว่าคาด เริ่มลดขนาดงบดุลเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ (พันธบัตร 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และ สินเชื่อบ้าน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์) เป็นเวลา 3 เดือน
และจากนั้นจะลดขนาดงบดุลเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (พันธบัตร 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และ สินเชื่อบ้าน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์) อีกทั้งยังเริ่มต้นการลดงบดุลจริงช้ากว่าคาด โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
5.ความเห็นที่ถือว่าแสดงความชัดเจนถึงความมั่นใจในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ว่าจะสามารถเอาเงินเฟ้ออยู่ได้ นั่นคือเมื่อมีคำถามที่ว่าการที่บิล ดัดลีย์ อดีตประธานเฟด สาขานิวยอร์ค มองว่าเฟดนอกจากที่เพียงขี้นดอกเบี้ยแล้ว อาจต้องการภาวะเศรษฐกิจถดถอยในการที่จะเอาเงินเฟ้อสหรัฐลงมาในระดับเป้าหมาย
ตรงนี้ พาวเวลสวนกลับแบบนิ่มๆว่า เขามองว่าโอกาสไม่เยอะที่เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นต้องพึ่งพาสภาวะถดถอยในการที่จะเอาเงินเฟ้อลงมาให้ได้ โดยลำพังเพียงนโยบายอัตราดอกเบี้ยก็สามารถเอาเงินเฟ้ออยู่หมัดได้แล้ว
6.ที่สำคัญที่สุด คือ การที่พาวเวลมองปัจจัยอุปทานอย่าง รัสเซียบุกยูเครน และ ล็อคดาวน์ในจีน อาจจะใช้เวลาหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งมองว่าพาวเวลเองออกจะมั่นใจว่าเฟดน่าจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ เมื่อจะสามารถใช้นโยบายการเงินในการต่อสู้กับเงินเฟ้อจากในส่วนของปัจจัยอุปสงค์ในที่สุด.
คอลัมน์ มุมคิดมหภาค สร้างการลงทุน
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (WeAsset)