แกะทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกหลังการประชุมเฟด | บัณฑิต นิจถาวร
อาทิตย์ที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ตรงกับการคาดการณ์ของตลาด
แต่คําถามสําคัญคือเราเรียนรู้อะไรบ้างจากการประชุมเฟดล่าสุดเกี่ยวกับแนวคิดของธนาคารกลางสหรัฐในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐมีผลอย่างสําคัญต่ออัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ผ่านกลไกสภาพคล่อง การไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.5 เดือนมีนาคม สูงสุดในรอบสี่สิบปี
และมีผลอย่างสําคัญให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 0.50 เพื่อลดการเร่งตัวของเงินเฟ้อ ตรงกับการคาดการณ์ของตลาด
แต่ที่ตลาดการเงินรอคอยคือความชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐจะมีแผนหรือ game plan ต่อไปอย่างไรที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับร้อยละ 2 ซึ่งเป็นกรอบทางนโยบาย เพราะอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 8.5 เป็นระดับที่สูง และทําให้ธนาคารกลางสหรัฐถูกวิจารณ์ว่าทํานโยบายช้าเกินไป ตามไม่ทันปัญหา และสูญเสียการควบคุมเงินเฟ้อ
ประเด็นสําคัญที่ได้จากคําแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐคราวนี้เทียบกับการประชุมครั้งก่อนหน้า คือ
1.ยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงในไตรมาสหนึ่งปีนี้ ประมาณการเบื้องต้นให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่หนึ่งปีนี้ติดลบร้อยละ 1.4 แต่เฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังเข้มแข็งทั้งด้านการใช้จ่ายและตลาดแรงงาน และสามารถทัดทานผลทางลบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากนี้ต่อไปได้
แต่อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 8.5 นั้นสูงเกินไป เฟดยืนยันที่จะให้ความสําคัญกับการลดเงินเฟ้อ และมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์โดยภาคธุรกิจและประชาชนขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
2.ยอมรับว่าสงครามยูเครน-รัสเซียมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ในจีนจะสร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ
3.ธนาคารกลางสหรัฐจะเร่งการดูดซับสภาพคล่องโดยลดปริมาณสินทรัพย์ที่ถืออยู่ เช่น พันธบัตรและตั๋วเงินรัฐบาล และพันธบัตร MBS โดยจะไม่ต่ออายุหรือซื้อเพิ่มเมื่อครบกําหนดในวงเงินสูงสุด 48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เพิ่มเป็น 95 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน
หลังจากนั้น ต้องเข้าใจว่าการดูดซับสภาพคล่องจําเป็นเพื่อลดสภาพคล่องในระบบให้เอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินตามกลไกตลาด
สิ่งที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐเน้นมากในการตอบคําถามผู้สื่อข่าว คือ ความไม่แน่นอนที่มีมาก ทําให้การดําเนินนโยบายการเงินจะต้องยืดหยุ่นเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ เป้าของการทํานโยบายการเงิน คือ ลดอัตราเงินเฟ้อพร้อมกับให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing)
มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในการประชุมสองครั้งหน้าเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่ยังมีมากขณะนี้ และยํ้าว่ายังไม่พิจารณาอย่างจริงจังการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากถึงครั้งละร้อยละ 0.75 อย่างที่ตลาดการเงินห่วงใย
ในประเด็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจไหลเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession ในประเด็นนี้ก่อนหน้าการประชุม ผลสํารวจความเห็นนักวิเคราะห์และนักบริหารเงิน
โดยสํานักข่าว CNBC ชี้ว่า กว่าร้อยละ 56 ของผู้ให้ความเห็น เชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ จะทําให้เศรษฐกิจสหรัฐไหลเข้าสู่ภาวะถดถอย คือเศรษฐกิจขยายตัวติดลบติดเนื่องอย่างน้อยสองไตรมาส ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในปีหน้าจากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ในประเด็นนี้ประธานเฟดให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่นําไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถอย เพราะความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้มีมาก โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่อัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ตํ่า มีตําแหน่งงานว่างให้เลือกมากสําหรับผู้ที่ต้องการทํางาน ต่างกับกรณีเศรษฐกิจถดถอยที่เมื่อเกิดขึ้นมักมาพร้อมกับอัตราการว่างงานที่สูง
สำหรับนักลงทุน สิ่งที่เราเรียนรู้จากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐคราวนี้คือ
1. เฟดห่วงเรื่องเงินเฟ้อมากและให้ความสําคัญกับการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ มองว่าเงินเฟ้อกระทบความเป็นอยู่ของผู้ที่มีรายได้ประจํามากและเศรษฐกิจจะเติบโตไม่ได้ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องปรับสูงขึ้น ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังเป็นขาขึ้น ทําให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกจะเป็นขาขึ้นตลอดจากนี้ไป
2. ไม่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วหรือยังที่ร้อยละ 8.5 ถ้าผ่านไปแล้ว ขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอาจเริ่มลดลงได้ เช่น อีกร้อยละ 0.5 ในการประชุมครั้งสองครั้งต่อไป จากนั้นเริ่มปรับขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง แต่ถ้ายังไม่ผ่านจุดสูงสุด คือ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวมากกว่าร้อยละ 8.5 ในเดือนต่อๆ ไป ขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจต้องมากขึ้นตามไปด้วย
ประเด็นนี้คือความห่วงใยของตลาดที่ทําให้ตลาดหุ้นปรับลดลงหลังการประชุมเฟด แม้เฟดจะยืนยันว่ายังไม่ได้พิจารณาจริงจังการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละร้อยละ 0.75
3. ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะความไม่แน่นอนที่โยงกับสถานการณ์สงครามและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมีมาก ซึ่งเฟดเองก็ยอมรับ ที่สามารถส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกได้ นอกเหนือจากผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
4. ธนาคารกลางสหรัฐใช้การสื่อสารกับตลาด เป็นเครื่องมือสําคัญในการดําเนินนโยบายการเงินเพื่อให้ตลาดสามารถปรับตัวได้ล่วงหน้า ก่อนที่มาตรการทางนโยบายจะออกมาจริงเพื่อให้การปรับตัวของตลาดต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ ดังนั้น นักลงทุนต้องติดตามสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐใกล้ชิด
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]