เมื่อเศรษฐกิจโลกเดินเข้าสู่ภาวะถดถอย | บัณฑิต นิจถาวร
ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ผลักดันโดยสามปัจจัยที่ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกแบบหน้ามือเป็นหลังมือเพียงเวลาไม่ถึงสามเดือน
นั้นคือ สงครามยูเครนกับรัสเซีย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอ ภาวะถดถอยนี้มีศักยภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ปลายปีก่อนเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด แต่ผ่านมาสี่เดือนแนวโน้มก็เปลี่ยนมาเป็นการชะลอตัวและมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต่อไป เป็นผลจากสามปัจจัยที่เกิดขึ้นในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา
1.สงครามจากการส่งกำลังทหารเข้าบุกยูเครนโดยรัสเซียตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่นำไปสู่ความไม่แน่นอนและสถานการณ์สู้รบที่ยังไม่ยุติ
2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในเดือนมีนาคมเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก
3.การกลับมาระบาดของโควิด-19 ในจีนรวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเมืองที่มีการระบาดในเดือนเมษายนตามนโยบาย Zero Covid ที่จะกระทบเศรษฐกิจจีนมาก
สามปัจจัยนี้กระทบเศรษฐกิจโลกอย่างสำคัญ ทั้งในระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระดับโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้จะเปลี่ยนจากฟื้นตัวมาเป็นชะลอตัว มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย รวมถึงศักยภาพเศรษฐกิจโลกที่จะถดถอยในอนาคต
เรามาดูประเด็นสำคัญในแต่ละเรื่อง
สถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียรวมถึงมาตรการคว่ำบาตร ได้ทำให้การผลิตในรัสเซียและยูเครนถูกกระทบมาก โดยเฉพาะพลังงาน คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตอาหาร เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด รวมถึงโลหะที่ทั้งสองประเทศนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
ทำให้เศรษฐกิจรัสเซีย เศรษฐกิจยูเครน รวมถึงเศรษฐกิจประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามถูกกระทบมาก เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การขาดแคลนสินค้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก ยิ่งถ้าสถานการณ์สงครามยืดเยื้อ ผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็ยิ่งมีมาก
ที่สำคัญความแตกแยกในภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่เป็นผลจากสงคราม จะกระทบความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกในแง่โลกาภิวัตน์ ทำให้ศักยภาพและประสิทธิภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะถดถอยไม่เหมือนเดิม นี่คือผลของสงคราม
สำหรับจีน การกลับมาระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ต้นปี ชี้และเตือนทุกประเทศว่าโรคระบาดโควิด-19 ยังไม่จบสิ้น สามารถกลับมาระบาดและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกได้เป็นรอบๆ
ภายใต้นโยบาย Zero Covid รัฐบาลจีนได้เข้าไปควบคุมการระบาด เริ่มจากมาตรการล็อกดาวน์ในบางเมืองบางส่วน เช่น นครเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จากนั้นขยายไปสู่การล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบในเมืองที่มีการระบาด เช่น เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งในเดือนเมษายน
ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนอยู่ในระดับสองหมื่นแปดพันคนต่อวัน ขณะที่สำนักข่าว CNN ประเมินว่ามาตรการล็อกดาวน์ทั้งแบบบางส่วนและเต็มรูปแบบขณะนี้ มีการบังคับใช้อยู่ใน 27 เมืองทั่วประเทศจีน กระทบประชากรกว่า180 ล้านคน
มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สินค้าขาดแคลนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมความอ่อนแอที่เศรษฐกิจมีอยู่จากปัญหาหนี้เสียในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ประกาศที่จะเร่งใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนจะกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก พราะจีนเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลก เป็นหัวรถจักรสำคัญในการผลิตและการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลก และเป็นตัวเชื่อมสำคัญในห่วงโซ่การผลิตโลก
มาตรการล็อกดาวน์ของจีนจึงยิ่งจะทำให้การผลิตในเศรษฐกิจโลกถูกกระทบมากขึ้น สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อความขาดแคลนและอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก
ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุดเงินเฟ้อประเทศอุตสาหกรรมเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีและประเทศตลาดเกิดใหม่ร้อยละ 7 ต่อปี เงินเฟ้อที่สูงกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
ปัญหาเงินเฟ้อได้ก่อตัวมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จากความไม่สมดุลระหว่างการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลก ที่เร่งตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผลิตในเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวขึ้นไม่ทัน เพราะดิสรัปชันที่โควิด-19 มีต่อกระบวนการผลิต
ทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือ แต่จากนั้นข้อจำกัดต่อการผลิตที่มีมากขึ้นจากผลของสงคราม และล่าสุดจากมาตรการล็อกดาวน์ในจีน และจากการดำเนินนโยบายแก้ไขเงินเฟ้อโดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ล่าช้า
โดยเฉพาะในสหรัฐทำให้ค่าจ้างแรงงานเริ่มปรับสูงขึ้นตาม แรงกดดันเงินเฟ้อจึงมีมากและเงินเฟ้อได้แปลงสภาพเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าปรับขึ้นเป็นการทั่วไป ขับเคลื่อนโดยการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลวัตของราคาสินค้าขาขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐสิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 8.5สูงสุดในรอบสี่สิบปีและประชาชนอเมริกันกว่าร้อยละ 20 มองว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญสุดขณะนี้ กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ประเมินไว้เดิมเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อในการประชุมเดือนนี้ที่เริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (3 พ.ค.)
เห็นได้ว่าทั้งสามปัจจัยกระทบเศรษฐกิจโลกในทางลบ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่สำคัญและจำเป็นต่อการแก้เงินเฟ้อทั้งเพื่อลดการใช้จ่ายและลดพลวัตที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถ้าไม่ทำเร็วและปล่อยให้ยืดเยื้อ เงินเฟ้อก็จะรุนแรงและกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนเมษายน ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมานการขยายตัวเศรษฐกิจโลกปีและปีหน้าลงเป็นร้อยละ 3.6 และล่าสุดได้เตือนว่าภูมิภาคเอเชียอาจเจอกับปัญหา Stagflation คือภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ซึ่งมักมากับการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ล่าช้า ทำให้ค่าเงินของประเทศอ่อนมาก ซ้ำเติมให้เงินเฟ้อยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น เศรษฐกิจโลกปีนี้ไม่สดใสแน่นอน และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นตามมา ตราบใดที่ความไม่แน่นอนยังมีมาก สำคัญสุดคือ สถานการณ์สงครามที่ควรยุติโดยเร็ว เพื่อลดความไม่แน่นอน เพราะถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อหรือขยายวง เศรษฐกิจโลกก็จะยิ่งถูกกระทบ และยิ่งนานก็จะยิ่งเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]