เศรษฐกิจโลก: กลับไปสู่หุบเหวมรณะ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
เมื่อสิบปีก่อน ผู้เขียนได้ตีพิมพ์พ็อคก็ตบุ๊กเล่มหนึ่งชื่อว่า "หุบเหวมรณะ : ทางออกวิกฤติการเงินโลกและไทย" โดยเนื้อหาสรุป กล่าวถึงการฟื้นตัวที่ยากลำบาก ของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นผลจากการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลผ่านมาตรการ QE ของสหรัฐ
แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ยุโรป ต้องตกไปสู่วิกฤติหนี้สาธารณะ ขณะที่จีนเผชิญกับปัญหา "ภาคการเงินเงา" (Shadow banking) และทำให้ฟองสบู่แตกในที่สุด
กลับมาสู่ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ผู้เขียนมองไว้เป็นจริงบ้างบางส่วน ทั้งประเด็นวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปในปี 2012 ที่รุนแรงจนเกือบทำให้ยุโรปล่มสลาย จีนที่เผชิญกับวิกฤติ Shadow banking ปัญหาฟองสบู่ และปัญหาค่าเงินจนเกิดภาวะ China hard-landing ในปี 2016
แต่เศรษฐกิจโลกก็มาฟื้นได้บ้างในช่วงปี 2017-18 จากภาวะ Global Synchronized growth (หรือการเติบโตอย่างพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย) ก่อนที่จะเริ่มฟุบอีกครั้ง หลังการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของสหรัฐในปี 2018-19 นำไปสู่ภาวะ Inverted Yield Curve (หรือภาวะเส้นผลตอบแทนพันธบัตรกลับทิศ ที่เป็นสัญญาณของวิกฤติเศรษฐกิจ) ผสมกับสงครามการค้าของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์
และปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เศรษฐกิจโลกตกหล่มคือโรคระบาด Covid-19 ที่นำไปสู่การ Lockdown ทั่วโลกและทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ และทำให้ทางการทั่วโลกต้องอัดฉีดมาตรการการเงินการคลังขนานใหญ่ นำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อมหาศาล
ผนวกกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply chain disruption) อันนำมาสู่วิกฤติ Stagflation หรือเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง
ฟางเส้นสุดท้ายของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน และแนวนโยบาย Zero-covid ในจีน ซึ่งปัจจัยแรก นำไปสู่วิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร และวิกฤติสินแร่โลหะอุตสาหกรรม
ภาพเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า เป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดวิกฤติในกลางปีหน้าเป็นอย่างช้า หรือปลายปีนี้เป็นอย่างเร็ว
จุดเริ่มต้นของวิกฤติครั้งนี้มาจากสหรัฐเป็นหลัก จากเงินเฟ้อที่พุ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และเป็นเงินเฟ้อจากทั้งฝั่งภาคการผลิต (หรือ Cost-push จากปัญหา Supply disruption ต่อเนื่องสู่ปัญหาจากสงครามยูเครน) และฝั่งความต้องการ (Demand-pull) จากมาตรการการเงินการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล
ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะต้องขึ้นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 7-10 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 1.75-2.50% ในปลายปีนี้ และอาจจะถึง 3% ในปีหน้า
นอกจากนั้น Fed จะยังทำมาตรการถอนสภาพคล่อง (Quantitative tightening: QT) เดือนละกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าระยะสั้น (หลังจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาวหรือเกิด Inverted Yield Curve อันเป็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในช่วงต้นเดือนนี้)
การที่ Fed ผลักดันให้ทั้งดอกเบี้ยระยะยาวและระยะสั้นขึ้นนี้ จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของทั้งเศรษฐกิจสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ รวมถึงต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะกดดันให้รายได้สุทธิของประชาชนและภาคธุรกิจลดลง นำไปสู่วิกฤติในที่สุด
คำถามคือ เมื่อ Fed ทราบว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะนำไปสู่วิกฤติแล้วนั้น Fed จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยหรือ คำตอบคือ หากแรงกดดันเงินเฟ้อฝั่งความต้องการใช้จ่าย (Demand-pull) ยังไม่หมด Fed ก็ยังจำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อ
จากการศึกษาของ Bill Dudley อดีตประธาน Fed สาขานิวยอร์ค พบว่า ทุกครั้งที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แทบทุกครั้ง ยกเว้นอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับสูงและมี Momentum ปรับลดลง แต่อัตราว่างงาน ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่แทบจะต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ฉะนั้น การปรับดอกเบี้ยขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การจ้างงานใหม่ลดลง และอัตราว่างงานปรับขึ้น และด้วยภาวะที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่ตลาดคาด (หรือที่เรียกว่า Behind the curve) ทำให้ต้องปรับเร็วและแรง ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำเร็วขึ้น
การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะทำให้ธนาคารกลางอื่น ๆ จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อกันไม่ให้กระแสเงินทุนไหลออกรุนแรงเกินไป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจที่มีระดับหนี้สูง หรือเศรษฐกิจที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลและต้องพึ่งพาเงินกู้จากภายนอกนั้นมีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจได้
ในฝั่งของยุโรปก็มีปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน ซึ่งปัญหาหลักเป็นผลจากการพึ่งพิงพลังงานและอาหารจากรัสเซีย และด้วยภาวะสงครามและการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
ทำให้ราคาน้ำมันสำหรับฤดูหนาวในปีหน้าจะสูงกว่าในสหรัฐถึง 5 เท่า และการใช้พลังงานในครัวเรือนเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจก็สูงเกือบสองเท่าเทียบกับสหรัฐ
ดังนั้น เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ลดลง ส่งผลกระทบกับยอดขายและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน โดยการผลิตของฝรั่งเศสเริ่มหดตัวลงในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ดังนั้น หากสงครามยังไม่สงบ และ/หรือการคว่ำบาตรยังคงอยู่ ปัญหา Stagflation ในยุโรปก็จะรุนแรงต่อเนื่อง และมีสิทธิที่จะเกิดวิกฤติได้
ในส่วนของจีน การระบาดของโรค Covid-19 สายพันธุ์ Omicron ที่รุนแรงและรวดเร็ว (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าของซีกโลกตะวันตก) ทำให้ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันขึ้นสูงกว่า 20,000 รายในช่วงต้นเดือน เม.ย. และจากมาตรการ Zero Covid ของรัฐบาล
จึงทำการ Lockdown เมืองที่ระบาดหนักอย่างเซี่ยงไฮ้ที่มีพลเรือนกว่า 26 ล้านคนและในเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น เซินเจิ้น ที่เป็นเมืองของการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การ Lockdown เมืองใหญ่เช่นนี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจหยุดชะงัก
ส่งผลเสียทั้งต่อการขนส่งสินค้า (โดยตู้คอนเทนเนอร์ที่กองในท่าเรือเซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้สูงเป็นประวัติการณ์) ขณะที่ประชาชนไม่สามารถออกมาจับจ่ายสินค้าจำเป็นได้ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า การขยายตัวเศรษฐกิจจีนอาจไม่ขยายตัวหรือแม้แต่หดตัวได้ในครึ่งแรกของปีนี้
นอกจากนั้น ผู้เขียนยังกังวลว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบต่อไปนี้ จะยาวนานและแก้ยากกว่าในอดีต เนื่องจากในครั้งนี้ ทางการของประเทศต่าง ๆ มีกระสุนเหลือที่จะกอบกู้เศรษฐกิจน้อยลง ยกเว้นแต่ในสหรัฐที่มีกระสุนเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยมาก่อนที่อื่น ๆ
เศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่หุบเหวมรณะอีกครั้งแล้ว นักลงทุน นักธุรกิจ และท่านผู้อ่านทุกท่าน โปรดเตรียมตัว.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่