เศรษฐกิจโลกและไทยในวิกฤต Stagflation-Recession | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวลบที่รายล้อม ผู้เขียนถูกถามว่าในกรณีเลวร้าย ผู้เขียนมองผลกระทบของปัจจัยลบต่างๆ ต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร
สิ่งที่ตอบคือ ผู้เขียนกังวล "กฎของเมอร์ฟี" (Murphy's Law) ที่กล่าวว่า "อะไรที่จะเลวร้ายลงได้ จะเลวร้ายลง" โดยหากพิจารณาจะสิ่งที่ผ่านมาในช่วงปลายปีที่แล้ว แทบทุกคนก็มองคล้ายกันว่า โรค Covid-19 จะค่อย ๆ หายไปเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้เศรษฐกิจการลงทุน การท่องเที่ยวก็กลับมาเปิดได้ ส่วนปัญหารัสเซียไปล้อมยูเครนก็น่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นสงคราม เพราะหากพิจารณาจากผลพวงต่อเศรษฐกิจในรัสเซียเอง จะเห็นว่าไม่คุ้มอย่างยิ่ง
แต่สงครามก็เกิดขึ้น โดยถึงแม้ว่า (ในปัจจุบัน) จะไม่ลามไปยังประเทศอื่น ๆ แต่การที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรงก็ทำให้เกิดวิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร ลามเข้าสู่วิกฤตเงินเฟ้อ
ดังนั้น เมื่อมองไปในอนาคต แม้จะไม่ใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (เช่น การกดดันของชาติพันธมิตรทำให้รัสเซียต้องหันไปใช้อาวุธรุนแรงอย่างระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามโลก) แต่ผู้เขียนก็มองว่า เป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจโลกและไทยในปีนี้จะเผชิญกับวิกฤต Stagflation (เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจตกต่ำ) และปีหน้าจะเผชิญกับวิกฤต Recession (เศรษฐกิจถดถอย) โดยขออนุญาตฉาย "ฉากทัศน์" ดังนี้
ในปีนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มจะเกิดภาวะ Stagflation โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้น รวมถึงทำให้ค่าครองชีพประชาชนเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีเงินเหลือไปบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ลดลง
จากการคำนวณของผู้เขียน หากราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อเนื่อง (จาก 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) เงินเฟ้อในประเทศเจริญแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรป และอังกฤษอาจอยู่ในระดับ 5-7% หรือมากกว่าจากที่ควรอยู่ในระดับ 3-4% ขณะที่เศรษฐกิจจะชะลอประมาณ 0.5-2.0% จากกรณีฐาน
เงินเฟ้อที่สูง นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจชะลอแล้ว ยังทำให้ธนาคารกลางต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจ ครัวเรือน รวมถึงภาครัฐสูงขึ้น โดยจากภาระหนี้ (ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ภาคเอกชน และครัวเรือน) ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ 355% ของ GDP ทั่วโลก
หากดอกเบี้ยทั่วโลกปรับขึ้น 1% จะทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับขึ้นไปประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 5% ของ GDP โลก กดดันรายได้ของภาคเอกชน ประชาชน หรือแม้แต่รัฐบาล และอาจนำมาสู่การล้มละลาย และเกิดวิกฤตเป็นวงกว้างได้
ผู้เขียนมองว่า เป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะ Recession ในสหรัฐในปีหน้า อันเป็นผลจากต้นทุนทางการเงินของธุรกิจ ครัวเรือน และรัฐบาล (วัดอย่างง่าย จากดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐ) สูงกว่าการขยายตัวของรายได้ (ซึ่งวัดอย่างง่ายจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ) ซึ่งหากต้นทุนทางการเงินสูงกว่ารายได้ต่อเนื่อง จะทำให้ธุรกิจเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง และลามสู่การผิดนัดชำระหนี้และอาจล้มละลาย รวมถึงลามเข้าสู่วงกว้างได้
อีกประเด็นที่ผู้เขียนกังวลคือ การขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไป โดยเฉพาะหากเป็นการขึ้นของสหรัฐ จะทำให้ธนาคารกลางประเทศอื่นจำเป็นต้องขึ้นตาม แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัว นำไปสู่วิกฤตการเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล (เช่น ไทย) จะยิ่งมีความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก และทำให้ความจำเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยมีมากขึ้น
นอกจากวิกฤตพลังงาน และวิกฤตการเงินจากต้นทุนทางการเงินพุ่งขึ้นแล้ว อีกวิกฤตที่ต้องกังวลคือวิกฤตอาหาร โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก รวมถึงเอเชียกลางและแอฟริกาที่ต้องพึ่งพาข้าวสาลี รวมถึงธัญพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน
ซึ่งทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตหลักกว่า 1 ใน 4 ของธัญพืชโลก และในปัจจุบัน ที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก และสงครามในยูเครน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกหายไป
ทำให้ผู้เขียนกังวลว่าจะเกิดการประท้วงทั่วโลกจากวิกฤตอาหารที่ขาดแคลนและราคาที่สูงขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก
ในส่วนของประเทศไทย แม้ในปีนี้ เศรษฐกิจอาจไม่ได้ตกต่ำมากนัก เนื่องจากเพิ่งจะฟื้นขึ้นจากวิกฤต COVID ที่ทำให้ให้เศรษฐกิจไทยหดตัวกว่า -6.2% ในปี 2020 และ ฟื้นต่ำที่ 1.6% ในปีนี้ แต่การที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับ 3 วิกฤต คือ วิกฤตพลังงาน วิกฤตค่าครองชีพ และวิกฤตค่าเงิน จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอลง
การใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย จะลดลงจากภาวะเงินเฟ้อสูงในสินค้าจำเป็น แต่เกิดภาวะเงินฝืดในสินค้าขั้นกลาง เช่น เสื้อผ้า หรือแม้แต่สินค้าคงทน เช่น ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ (แต่รถยนต์อาจได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันแพง ทำให้มีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น)
ในส่วนของค่าเงิน ผู้เขียนมองว่า ทิศทางนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐและไทยที่แตกต่างกันมาก (สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้งหรือมากกว่าในปีนี้ แต่ไทยส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ย) อาจทำให้เงินทุนไหลออกมากขึ้น นอกจากนั้น หากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง จะทำให้ไทยต้องใช้เงินตราต่างประเทศนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล เป็นเหตุให้เงินบาทอ่อนค่าและทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้บาทอ่อนเกินไป ซึ่งจะยิ่งกดดันให้ธุรกิจรวมถึงครัวเรือนที่มีหนี้สูงเกิดปัญหาสภาพคล่องและล้มละลายได้
ภาพเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นในปีหน้า ที่วิกฤตจะลุกลามมากขึ้น จากวิกฤตรากหญ้า กลายเป็นวิกฤตของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ และลามทั่วโลกผ่านดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้การผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ และเศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำลง ลามสู่ทั่วโลกผ่านการค้าระหว่างประเทศที่หดตัว
นอกจากนั้น โอกาสที่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่ระหว่างมหาอำนาจ เช่น จีน กับสหรัฐ มีมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นไต้หวัน
ด้านเศรษฐกิจไทยในปีหน้า อาจเผชิญกับ 3 วิกฤต คือ 1. วิกฤตส่งออก (จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก) 2. วิกฤตภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีหนี้สูง อาจเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายจากดอกเบี้ยขาขึ้น (ที่ผู้เขียนมองว่าอาจต้องขึ้นต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจจะชะลอก็ตาม)
และ 3. วิกฤตการเมือง ที่เป็นผลจากความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น และปัญหาศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างยาวนาน
Stagflation และ Recession กำลังลามทั่วโลก ท่านผู้อ่าน โปรดระมัดระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
คอลัมน์ : Global Vision
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]