สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" สงครามเศรษฐกิจ
ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนมากขึ้น เริ่มมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อมาเกือบ 2 เดือนนับตั้งแต่ทหารรัสเซียบุกเข้าโจมตีชายแดนยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ.2565 ส่งผลให้ชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เริ่มด้วยการตัดธนาคารรัสเซียออกจากเครือข่ายสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินโลก (Society for Worldwide Financial Interbank Telecommunication หรือ SWIFT) เพื่อเป็นการตอบโต้การที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน และมีผลให้การทำธุกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของรัสเซียมีปัญหา
ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนมากขึ้น เริ่มมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยในสหรัฐ เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยต้องจับตาสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด
สิ่งที่น่ากังวลคือ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจจะยุติลงได้ แต่หลายฝ่ายประเมินว่าสถานการณ์สงครามทางเศรษฐกิจจะดำเนินต่อ โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจจะเพิ่มมากขึ้นจากสหรัฐและชาติตะวันตก ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนโลก และเพิ่มขึ้นมาด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสหรัฐและชาติตะวันตก กับฝ่ายรัสเซียและพันธมิตร
รัสเซียไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวจากเหตุการณ์นี้ เพราะยังมีประเทศที่ไม่ได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย หรือแสดงตัวเป็นกลางในที่ประชุมสหประชาชาติ รวมทั้งรัสเซียยังพยายามหาพันธมิตรกับข้อแลกเปลี่ยนในการขายน้ำมันให้ นั่นหมายถึงความขัดแย้งจะมีแนวโน้มขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่มีการเลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรและไม่มีการเจรจา ซึ่งอาจทำให้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีเพิ่มมากขึ้นตามเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ
สงครามเศรษฐกิจจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอาจจะยืดเยื้อเหมือนสงครามการค้าระหว่างรัสเซียและจีนที่ทยอยออกมาตรการตอบโต้ ในขณะที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบสัดส่วน 10% ของตลาดโลก รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ให้กับยุโรป และเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น นิกเกิล โปแตส ซึ่งทำให้ซัพพลายเชนโลกได้รับผลกระทบอีกครั้งเมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อ ซึ่งประเทศไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีแผนรับมือทั้งประเด็นการเมืองโลกและผลกระทบทางเศรษฐกิจ