สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดัน ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุด

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดัน ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุด

สนค.เผย ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุด ตามต้นทุนพลังงาน เหล็ก วัตถุดิบตลาดโลกเพิ่ม รับผลกระทบศึกรัสเซีย-ยูเครน ดันดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง มี.ค.65 พุ่ง 8.6% เทียบมี.ค.64 สูงสุดรอบ 4 เดือนจากพ.ย.64 สินค้าสำคัญราคาขึ้นพรวด ทั้งเหล็ก คอนกรีต คาดไตรมาส 2 พุ่งต่อตามต้นทุน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ราคาสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างในประเทศปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า เห็นได้จาก ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมี.ค.65 อยู่ที่ 119.7 สูงขึ้น 8.6% เทียบกับเดือนมี.ค.64 สูงสุดในรอบ 4 เดือนนับจากเดือนพ.ย.64 ที่สูงขึ้น 10.4% ส่วนเมื่อเทียบเดือนก.พ.65 สูงขึ้น 2.2% และเฉลี่ย 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 65 สูงขึ้น 7.2% เทียบช่วงเดียวกันปี 64   

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสูงขึ้น มาจากการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบและพลังงาน เช่น น้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน อลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และเป็นสินค้านำเข้า ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ รัสเซีย-ยูเครน ทั้งในด้านต้นทุนราคาสินค้า และอุปทาน  

สำหรับหมวดสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเดือนมี.ค.65 ได้แก่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้น  19.8% เทียบเดือนมี.ค.64 ตามด้วย หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้น 6.0% และหมวดซีเมนต์ สูงขึ้น 5.6% โดยทั้ง 3 หมวดมีสัดส่วน 52.89% ของมูลค่าการก่อสร้างของไทย สินค้าสำคัญ ที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คอนกรีตผสมเสร็จ เป็นต้น รวมถึงยางมะตอย สินค้าสำคัญสำหรับโครงการก่อสร้างภาครัฐที่สูงขึ้น  13.9%  จากต้นทุนวัตถุดิบ คือ น้ำมันสูงขึ้น และยังมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นจากโครงการก่อสร้างภาครัฐที่เร่งดำเนินงานให้เสร็จตามเป้าหมาย  

นอกจากนี้ ยังมีหมวดอื่นๆ ที่ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ ที่สูงขึ้น 4.4% , หมวดกระเบื้อง สูงขึ้น 4.1% , หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้น 0.1% , หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้น 4.6%  และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้น 7.0%   

นายรณรงค์ กล่าวต่อถึงแนวโน้มในไตรมาส 2 ปี 65 ว่า ยังมีแนวโน้มขยายตัว จากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ขยายตัว ตามปริมาณเหล็กโลกที่มีตึงตัว เพราะจีน ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ลดกำลังการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายลดมลภาวะจากการผลิตเหล็ก และนำไปสู่การลดกำลังการผลิตในระยะยาว รวมถึงการเก็บสต๊อกสินค้าไว้ใช้ในประเทศ ประกอบกับ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลเพิ่มเติมทำให้ปริมาณเหล็กโลกตึงตัวมากขึ้น เพราะปริมาณส่งออกเหล็กของ 2 ประเทศรวมกันใกล้เคียงกับการส่งออกของจีน   

            

“แม้ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัด เพราะพึ่งพาเหล็กจากทั้ง 2 ประเทศในสัดส่วนน้อย แต่ยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาเหล็กนำเข้าที่สูงขึ้น ขณะที่ ราคาน้ำมัน และวัตถุดิบต่างๆ  ที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตวัสดุก่อสร้าง และมีผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ยางมะตอย ยังคงสูงขึ้นตาม”   

       

ส่วนการใช้มาตรการป้องกันโวิด-19 อย่างเข้มงวดด้วยการล็อกดาวน์ในจีน (ซีโร โควิด-19) และความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย ส่งผลต่ออุปสงค์ของภาคการก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป