ค่าแรงขั้นต่ำกับชะตาของเศรษฐกิจไทย | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ข้อเสนอของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย มักถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงเสมอในช่วงวันแรงงาน
ด้วยเหตุผลว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนอกจากจะช่วยลดช่องว่างด้านรายได้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของระบบเศรษฐกิจโดยรวม หากทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ก็จะสามารถเปลี่ยนชะตาของเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในที่สุด
ตามแนวคิดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบ Rehn-Meidner (ย่อว่า RM) ซึ่งตั้งชื่อตามนักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดนสองคนที่ร่วมกันพัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสนอว่า การที่เศรษฐกิจจะได้ประโยชน์จากค่าแรงขึ้นต่ำมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบด้วยกัน
องค์ประกอบแรกเป็นนโยบายค่าแรงเท่าเทียม (Solidaristic Wage) หมายความว่า แรงงานทุกคนที่ทำงานประเภทเดียวกันควรได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าบริษัทที่พวกเขาทำงานอยู่จะมีกำไรมากน้อยแค่ไหน
แต่ค่าแรงสำหรับแรงงานแต่ละกลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกัน มีสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมือนกัน ยังสามารถแตกต่างกันได้ หากขยายตีความในบริบทเชิงพื้นที่ ค่าแรงในแต่จะจังหวัดจึงไม่จำเป็นและไม่ควรจะเท่ากันด้วย
ผลลัพธ์ที่ตามมาจากนโยบายค่าแรงเท่าเทียมก็คือ บริษัทหรืออุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อยจะถูกกำจัดออกไปจากระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรซึ่งแต่เดิมเคยไหลไปยังบริษัทหรืออุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็จะถูกโอนย้ายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีกำไรมากกว่า
นอกจากนี้แล้ว การโยกย้ายทรัพยากรยังทำให้บริษัทหรืออุตสาหกรรมที่มีกำไรอยู่แล้วสามารถทำกำไรได้มากกว่าเดิม กำไรที่เพิ่มขึ้นย่อมนำไปสู่การจ้างงานที่สูงขึ้น แรงงานได้รับค่าแรงสูงกว่าเดิม
ดังนั้น แม้ว่าจะมีแรงงานในบางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องตกงาน แต่ในท้ายที่สุดแล้วคนตกงานจะหางานใหม่ได้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นที่มีกำไรเพิ่มขึ้นและต้องการจ้างงานมากขึ้นเพื่อขยายการผลิต
ด้วยเหตุนี้ ผลของการใช้นโยบายค่าแรงเท่าเทียมตามแนวทางนี้ จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรง และยังช่วยลดปัญหาความแตกต่างด้านค่าแรงได้อีกด้วย
องค์ประกอบที่สองเป็นการสร้างกลไกในการช่วยให้แรงงานสามารถย้ายที่ทำงานได้อย่างราบรื่น นัก ด้วยการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการหางานรวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการหางานทำ เพื่อช่วยให้แรงงานสามารถหางานในภาคเศรษฐกิจอื่นได้
องค์ประกอบที่สามเป็นการให้เงินช่วยเหลือกับบริษัที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดต้นทุนจากการจ้างแรงงาน ซึ่งนอกจากจะเกิดจากการเพิ่มค่าแรงแล้ว ยังอาจเกิดขึ้นจากการที่บริษัทต้องลงทุนในการฝึกอบรมแรงงานให้ทำงานได้ตามความคาดหวังของบริษัท
นอกจากนี้แล้ว การให้เงินช่วยเหลือในลักษณะนี้ยังสามารถจูงใจให้มีบริษัทเปิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และการผลิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดโอกาสในการเกิดเงินเฟ้อได้อีกทางหนึ่งด้วย
สวีเดนได้นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้โดยยุคทองของโมเดล RM อยู่ในช่วงกลางทศวรรศที่ 1960 ถึงต้น 1970 ช่วงนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสวีเดนสูงกว่าประเทศในกลุ่ม OECD ส่วนใหญ่ ผลิตภาพการผลิตในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับสูง
มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการผลิตให้มีความทันสมัยมากขึ้น อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังพบว่าความแตกต่างของค่าแรงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีน้อยลง เนื่องจากผลิตภาพการผลิตของแรงงานและธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
ตรงตามที่โมเดล RM อธิบายไว้ทุกประการ ทำให้รัฐบาลของสวีเดนยิ่งเชื่อมั่นในโมเดล RM มากขึ้นกว่าเดิมอีก จนนำไปสู่การออกนโยบายที่สอดคล้องกับโมเดล RM เพิ่มเติมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
จนอาจกล่าวได้ว่า โมเดล RM นี้เป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวสวีเดนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความเสมอภาคด้านรายได้ที่สูง
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวต้องหยุดชะงักเนื่องจากในช่วงปี 1991 ถึง 1993 สวีเดนประสบกับภาะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ต้นทุนของค่าแรงต่อหน่วยของผลผลิตเพิ่มทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนและกำไรของธุรกิจลดลง
ประกอบกับการที่ประชาชนนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ไปลงทุนเพื่อเก็งกำไร ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ สองปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันทำให้เกิดการเลิกจ้างมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก
ในบริบทของประเทศไทยนั้น การยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพถือเป็นเรื่องจำเป็น
แต่สิ่งที่ต้องคิดควบคู่กันไปด้วยก็คือ ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกที่กำลังพลิกโฉม และแรงงานมีความเสี่ยงจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี
เราควรขึ้นค่าแรงด้วยแนวทางไหนที่จะช่วยให้แรงงานและเศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้ในระยะยาว
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์