จ่อขึ้น “ค่าแรง” ปีนี้ กระทบหุ้นตัวไหนบ้าง?
ภาคแรงงานนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 492 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า จนรายรับไม่พอกับรายจ่าย
ขณะที่ในฝั่งนายจ้างออกมาค้านทันที มองว่าตัวเลขที่เสนอมาค่อนข้างสูง และไม่มีที่มาที่ไปในการคำนวณที่ชัดเจน ซึ่งตามหลักการแล้วการขึ้นค่าแรงควรพิจารณาเป็นรายพื้นที่ โดยรองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม ธนิต โสรัตน์ เสนอว่าการขึ้นค่าแรงควรสอดรับกับเงินเฟ้อปีนี้ที่ไม่เกิน 5%
สำหรับความคืบหน้าในการปรับขึ้นค่าแรง ขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดอยู่ระหว่างการพิจารณา ก่อนที่จะส่งต่อให้กับคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เคาะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง
แน่นอนว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ได้ประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ภายใต้สมมติฐานว่ามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 5-10% หรือ เพิ่มขึ้น 17-33 บาทต่อวัน โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ พบว่า
1. กลุ่มร้านอาหาร จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการที่ใช้พนักงานค่อนข้างมาก มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายพนักงานสูงราว 38.5% ของต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรณีปรับขึ้นค่าแรง 5-10% จะกระทบกำไรสุทธิปี 2566 ราว 7.8% และ 15.3% ตามลำดับ
เช่น บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ค่าแรงคิดเป็น 29% ของต้นทุนทั้งหมด กระทบกำไรสุทธิ 8.3% และ 16.5% ตามลำดับ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 48% กระทบกำไรสุทธิ 7.2% และ 14% ตามลำดับ
2. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย 11.4% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบ 3.8% และ 7.7% ตามลำดับ โดยกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่ากลุ่มเครื่องดื่ม แม้อุตสาหกรรมอาหารจะเริ่มมีการใช้เครื่องจักรในการผลิตมากขึ้น แต่บางสายการผลิตยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคน เพื่อความแม่นยำ ลดอัตราสูญเสียและปลอดภัยมากกว่า เช่น การตัดแต่งชิ้นเนื้อ การถอนก้างปลา การทอด เป็นต้น
เช่น บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ค่าแรงมีสัดส่วน 12% คาดกระทบกำไรสุทธิ 5.5% และ 10.9% ตามลำดับ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ค่าแรงมีสัดส่วน 6.4% คาดกระทบกำไรสุทธิ 2% และ 4% ตามลำดับ
3. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย 5.4% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบจำกัดราว 2% และ 3.9% ตามลำดับ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิตเป็นหลัก แต่ยังต้องมีการใช้แรงงาน โดยเฉพาะในสายการผลิต SMT (Surface Mount Technology) หรือ การผลิตด้วยการวางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนผิวงาน ที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูง เพื่อความแม่นยำและให้มีความปลอดภัยสูงสุด
เช่น บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 6.5% คาดกระทบกำไรสุทธิ 3.3% และ 6.6% ตามลำดับ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 7% คาดกระทบกำไรสุทธิ 1.4% และ 2.9% ตามลำดับ
4. กลุ่มเกษตรต้นน้ำ เช่น ถั่วเหลือง น้ำตาล ยางพารา และมันสำปะหลัง คาดได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.6% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกำไรสุทธิจะถูกกระทบเพียง 1% และ 1.9% ตามลำดับ เพราะส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิต โดยต้นทุนหลัก คือ วัตถุดิบและค่าเสื่อมราคา
เช่น บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ค่าแรงมีสัดส่วน 3% ของต้นทุนทั้งหมด คาดกระทบกำไรสุทธิ 1% และ 2% ตามลำดับ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ค่าแรงมีสัดส่วน 1.5% คาดกระทบกำไรสุทธิ 1% และ 1.9% ตามลำดับ
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่มค้าปลีกที่ฝ่ายวิจัยศึกษา จากประเด็นการขยับเพดานราคาดีเซลและการเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งจะกระทบต้นทุนการดำเนินงานระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานที่คิดเป็น 6.4% ของรายได้ในปี 2565
ซึ่งผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานมากสุดคือ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM 17% ของรายได้ ตามด้วยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ที่ 8% ของรายได้ ขณะที่ค่าขนส่งส่วนใหญ่อยู่ที่ราว 1-2% ของรายได้ ซึ่งปกติมักผลักภาระให้คู่ค้าและผู้บริโภคได้อยู่แล้ว ความกังวลหลักจึงอยู่ที่การปรับค่าแรงขั้นต่ำ
หากใช้สมมติฐานขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 10% จากฐานปัจจุบัน 331 บาทต่อวัน และสัดส่วนพนักงานระดับปฎิบัติการ 50% ของพนักงานรวม คาดกระทบต่อประมาณการกำไรของกลุ่มราว 7-8%
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวน่าจะเป็นบวก จากกำลังซื้อและยอดขายสาขาเดิมที่เพิ่มขึ้น ช่วยกลบส่วนต่างต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงไม่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ