เครื่องยนต์การเติบโต เครื่องที่สอง | พสุ เดชะรินทร์
กลยุทธ์ของบริษัทย่อมจะต้องมีที่เกี่ยวข้องกับการเติบโต (Growth) แนวโน้มหนึ่งที่พบเห็นมากขึ้นกับธุรกิจขนาดใหญ่ คือการมุ่งแสวงหาการเติบโตจากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเป็นการเติบโตที่ไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในธุรกิจหลักเดิม (Core Business) เหมือนในอดีต
ตัวอย่างของการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือการพยายามในการสร้างธุรกิจหลักใหม่ สามารถเห็นได้จากหลายธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย
เช่น ปตท. ที่ในอดีตมีทิศทางว่าต้องการเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ และกลยุทธ์จะมุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจน้ำมันและพลังงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนทิศทางและกลยุทธ์มุ่งสู่การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และได้แสวงหาการเติบโตใหม่ในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน EV A.I. หรือแม้กระทั่งยา
หรืออาร์เอส กรุ๊ป ที่หลายท่านจะคุ้นเคยจากการเป็นผู้นำในธุรกิจเพลงและบันเทิง หลายปีที่ผ่านมาก็ได้พยายามพัฒนาธุรกิจหลักใหม่ขึ้นมา ในชื่อของ Entertainmerce ที่มุ่งเน้นในด้านของค้าปลีก ขายตรง สุขภาพ เครื่องสำอาง ตลอดจนรุกเข้าสู่สินเชื่อรายย่อยและสินทรัพย์ดิจิทัล
การแสวงหาการเติบโตจากธุรกิจหลักใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศ มีตัวอย่างของ Amazon ที่ขยับจากธุรกิจค้าปลีกมาทำ Cloud หรือ Meta จากสังคมออนไลน์ สู่ Metaverse เป็นต้น
สาเหตุของจะต้องปรับเปลี่ยนแหล่งการเติบโตนั้น ก็หนีไม่พ้นจากการปรับตัวให้เข้ากับโอกาสและข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อธุรกิจเดิมถูก Disrupt จากปัจจัยต่างๆ ธุรกิจย่อมต้องแสวงหาโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจใหม่ที่มีความเป็นไปได้
ล่าสุดก็มีบทความใน Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤษภาคม ชื่อว่า When your business needs a second growth engine เขียนโดย James Allen และ Chris Zook
ได้มุ่งเน้นในประเด็นของการสร้างธุรกิจหลักใหม่ และมองว่าความสามารถอย่างหนึ่งที่ธุรกิจจะต้องเร่งสร้าง คือความสามารถในการสร้างธุรกิจหลักใหม่ หรือที่ในบทความเรียกว่า Second Growth Engine หรือการเติบโตจากเครื่องยนต์หมายเลขสอง
จากเดิมที่ธุรกิจจะเน้นการเติบโตจากธุรกิจหลักเดิมหรือที่เกี่ยวข้อง ที่ในบทความเรียกว่าการเติบโตจาก Engine One หรือเครื่องยนต์หมายเลขหนึ่ง
ในอดีตการเติบโตที่ดีที่สุดของธุรกิจคือ การเติบโตในธุรกิจหลักหรือขยายไปสู่ธุรกิจอื่นที่ใกล้เคียงกับธุรกิจหลัก ที่เรียกว่าการเติบโตจากเครื่องยนต์หมายเลขหนึ่ง ทั้งการขยายในเชิงภูมิภาค เช่น Starbucks ขยายสาขาเข้าสู่ประเทศจีน หรือ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น Apple มาทำนาฬิกา หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ เป็นต้น
หรือ กรณีของ ปตท. ในอดีตก็เน้นการเติบโตในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หรือ RS ก็เน้นการเติบโตในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิง อย่างไรก็ดีเมื่อธุรกิจเดิมถูก Disrupt จากปัจจัยภายนอก ทำให้ธุรกิจก็ต้องแสวงหาการเติบโตจากเครื่องยนต์หมายเลขสองควบคู่ไปด้วย
การเติบโตจากเครื่องยนต์หมายเลขสองนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การขยายไปสู่ธุรกิจที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาหรือสร้างธุรกิจหลักใหม่ขึ้นมาเลย
เช่น กรณีของ Amazon นั้นจากเดิมที่ธุรกิจหลัก (Core Business) คือค้าปลีกออนไลน์ ก็สามารถสร้างธุรกิจหลักอันใหม่ขึ้นมาคือบริหาร Cloud
สำหรับในไทยนั้นจะพบเห็นแนวโน้มการเติบโตอยู่สามแนวทางด้วยกัน
ทางแรกคือการเติบโตในธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจเดิม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าในอุตสาหกรรมเดิมยังมีโอกาสในการเติบโตหรือถูก Disrupt จากปัจจัยภายนอกหรือไม่
ถ้าธุรกิจหลักเดิมมีโอกาสเติบโตน้อย องค์กรก็จะมุ่งเน้นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ การรักษาสถานะไว้ให้ได้ เป็นหลัก
ทางเลือกที่สองคือ เติบโตในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อยอดจากธุรกิจเดิมในลักษณะของ Enhancement โดยหลายธุรกิจชอบที่จะหาโอกาสในการเติบโตหรือต่อยอดผ่านทางช่องทางต่างๆ ตาม Value Chain ของธุรกิจหลักเดิม
ทางเลือกที่สามคือ การเติบโตโดยการสร้างธุรกิจหลักใหม่ โดยเป็นการสร้างหรือพัฒนาธุรกิจหลักใหม่ขึ้นมาเลย ในลักษณะของเครื่องยนต์หมายเลขสอง หรือ ที่ในไทยจะคุ้นเคยในชื่อของการหา S-Curve เส้นใหม่ซึ่งได้กลายเป็นกลยุทธ์การเติบโตใหม่ๆ ที่หลายองค์กรธุรกิจแสวงหา.
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]