สิทธิการแต่งกายข้ามเพศของนักศึกษาในรัฐธรรมนูญไทย | อารยา สุขสม
มหาวิทยาลัยนับเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งปรากฏให้เห็นถึงการแต่งกายข้ามเพศของนักศึกษากันอย่างแพร่หลาย แต่ถึงกระนั้น การปฏิเสธสิทธิการแต่งกายตามเพศสภาพของนักศึกษา ยังคงพบเห็นได้อยู่บ่อยครั้ง
คำถามที่น่าสนใจคือ การแต่งกายตามเพศสภาพหรือการแต่งกายข้ามเพศในมหาวิทยาลัยเป็นสิทธิตามกฎหมายหรือไม่? บทความนี้จึงอยากชักชวนให้ท่านผู้อ่านมาทำความรู้จัก “สิทธิการแต่งกายข้ามเพศ” ผ่านมุมมองของรัฐธรรมนูญกัน
ในเบื้องต้น เราอาจทำความเข้าใจสิทธิในการแต่งกายข้ามเพศได้จากเอกสารระหว่างประเทศที่ชื่อว่า “หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (Yogyakarta Principles)” ซึ่งวางหลักการห้ามมิให้เลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในการเข้าถึงและได้รับประโยชน์ด้านการศึกษา
โดยระบุในข้อ 16 ว่า“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิด้านการศึกษาโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ และโดยให้ความคำนึงถึงด้านดังกล่าว”
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น รัฐสมาชิกจึงมีพันธกรณีต้องใช้มาตรการทางนิติบัญญัติ ทางปกครอง และอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อรับรองความเสมอภาคทางการศึกษา
เช่น ดำเนินการให้มีกฎหรือนโยบายสถานศึกษาที่ให้ความคุ้มครองเพียงพอต่อนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศแบบต่าง ๆ จากการถูกแบ่งแยกกีดกันทางสังคมและจากการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในสถานศึกษา รวมถึงการกลั่นแกล้งและรังควาน
ตลอดจนต้องใช้มาตรการทางนิติบัญญัติ ทางปกครอง และอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้กฎระเบียบในสถานศึกษาถูกใช้อย่างสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือลงโทษจากสาเหตุวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกตามอัตลักษณ์ในเรื่องดังกล่าว
หลักการข้างต้นได้กลายมาเป็นแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ รวมถึงประเทศไทยในการปรับปรุงกฎหมายตลอดจนวิธีปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเรื่องวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศภายในประเทศของตนเอง
สำหรับประเทศไทยได้รับรองหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศในการเข้าถึงและได้รับประโยชน์ด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
โดยรับรองการใช้สิทธิแต่งกายตามเพศสภาพของบุคคลในสถานการศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้สิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศ
ดังปรากฏในมาตรา 27 วรรคสามซึ่งบัญญัติว่า“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายภาพหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”
บทบัญญัตินี้ได้ยืนยันว่า ความแตกต่างในเรื่อง “เพศ” ย่อมไม่อาจถือเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติต่อบุคคลให้แตกต่างกันได้ ซึ่งคำว่า “เพศ” เมื่อพิจารณาจากบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะพบว่าคำว่า “เพศ” หมายความรวมถึง “ความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งเป็นเรื่องของความหลากหลายในวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศด้วย
โดยหลักการดังกล่าวได้มีการรับรองสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ด้วยเหตุนี้ บุคคลทุกคนรวมถึงบุคคลที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ย่อมมีสิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองด้วยการแต่งกายตามเพศสภาพที่ตนต้องการ อันถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ประการต่อมา หากบุคคลนั้นมีความประสงค์จะใช้สิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนในสถานศึกษาย่อมต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการใช้สิทธิในการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า
“รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล”
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงมีความผูกพันที่จะต้องให้การรับรองสิทธิแก่บุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการศึกษาอย่างเท่าเทียมภายใต้บรรยากาศการเรียนการสอนที่ยุติธรรมและเอื้อต่อการศึกษา โดยไม่นำเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของนักศึกษามาใช้เป็นเหตุผลในการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิในการได้รับผลประโยชน์จากการศึกษาในเรื่องต่าง ๆ
รวมถึงให้การรับรองสิทธิแก่บุคคลในการแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อให้สามารถเข้าชั้นเรียน การเข้าสอบวัดผล การฝึกปฏิบัติงาน และการเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังต้องใช้มาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้กฎระเบียบต่าง ๆ ในสถานศึกษาถูกใช้อย่างสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือลงโทษจากสาเหตุเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลเหล่านั้น
จึงเห็นได้ว่า การใช้สิทธิในการแต่งกายข้ามเพศของนักศึกษาในปัจจุบันเป็นการใช้สิทธิในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล เพื่อให้นักศึกษาผู้นั้นสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากการศึกษาในฐานะเป็นนักศึกษาได้เช่นเดียวกับนักศึกษาคนอื่น ๆ
จึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ผูกพันให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายต้องให้การเคารพในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การปฏิเสธสิทธิในการแต่งกายข้ามเพศของนักศึกษาจึงเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั่นเอง.
คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา สุขสม
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์