ซีอีโอที่ประสบความสำเร็จต้องทำอะไรบ้าง? | พสุ เดชะรินทร์

ซีอีโอที่ประสบความสำเร็จต้องทำอะไรบ้าง? | พสุ เดชะรินทร์

บุคคลที่เป็นซีอีโอ (CEO) มักจะถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวิชาชีพและหน้าที่ของตน 

อย่างไรก็ดียังมีความแตกต่างระหว่างซีอีโอ ที่สามารถนำพาองค์กรของตนเองสู่ความสำเร็จกับเพียงการได้เป็นและดำรงตำแหน่งซีอีโอ ทำให้นำไปสู่คำถามว่าซีอีโอที่ประสบความสำเร็จนั้น มีคุณลักษณะ หรือ ความสามารถ หรือ ทำอะไรที่แตกต่างจากซีอีโอทั่วๆ ไปบ้าง?

    ได้มีกัลยาณมิตรส่งหนังสือชื่อ CEO Excellence มาให้ เป็นหนังสือที่เขียนโดย Carolyn Dewar, Scott Keller และ Vikram Malhotra ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่ McKinsey

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากโจทย์ว่า จริงๆ แล้วซีอีโอทำอะไรบ้าง? จากนั้นก็ถามต่อไปว่าซีอีโอที่เก่งนั้นทำอะไรที่แตกต่างจากซีอีโออื่นๆ บ้าง?

โดยมีกระบวนการคัดเลือกซีอีโอที่เก่งจากผลการดำเนินงานขององค์กร และการได้รับการยกย่อง ซึ่งมุ่งเฉพาะซีอีโอที่เป็นผู้บริหารมืออาชีพเท่านั้น ไม่นับรวมซีอีโอที่เป็นผู้ก่อตั้งหรือเจ้าของกิจการ

เนื่องจากความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นทำให้บริบทในการบริหารงานแตกต่างจากซีอีโอที่เป็นมืออาชีพ

    ผู้เขียนได้เลือกซีอีโอที่เก่งและประสบความสำเร็จได้มากกว่า 50 คนและเพื่อสัมภาษณ์ในเชิงลึก ผู้เขียนจะไม่มองเฉพาะซีอีโอจากอเมริกาเท่านั้น แต่จะมีซีอีโอ (และอดีตซีอีโอ) จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกด้วย ในไทยนั้นก็มี "กานต์ ตระกูลฮุน" อดีตซีอีโอของ SCG รวมอยู่ด้วย

    ซีอีโอโดยทั่วไป จะมีหน้าที่สำคัญอยู่ 6 ประการ และมีหน้าที่ย่อยอยู่ภายใต้หน้าที่หลักทั้ง 6 ประการ โดยหน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ซึ่งซีอีโอทุกคนควรที่จะทำ ไม่ใช่เฉพาะของซีอีโอที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้มีหน้าที่ใดที่สำคัญกว่ากัน 

ซีอีโอแต่ละคนจะให้ความสำคัญกับหน้าที่เหล่านี้แตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ ส่วนซีอีโอที่ประสบความสำเร็จนั้นจะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในหน้าที่ทั้ง 6 ประการตลอดเวลา เพียงแต่ในบางช่วงนั้นอาจจะมุ่งเน้นในบางหน้าที่มากกว่า 

รวมทั้งยังสามารถยกระดับหน้าที่ทั้ง 6 ประการให้กลายเป็น Mindset หรือความเชื่อ ทัศนคติ ที่นำไปสู่พฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จของทั้งองค์กรและตนเอง หน้าที่ของซีอีโอทั้ง 6  ประการประกอบด้วย

    1. Direction-setting หรือการกำหนดทิศทางและนำองค์กร ซีอีโอที่เก่งนั้นจะไม่คอยและรอปรับองค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง แต่จะมองหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงมากกว่า

    2. Organization alignment หรือการจัดองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างการบริหารองค์กร และเรื่องของคน

    3. Mobilizing leaders หรือการทำงานร่วมกันของทีมผู้นำในระดับต่างๆ ทั้งองค์ประกอบของทีม การทำงานร่วมกันของทีม และบทบาทของซีอีโอในการขับเคลื่อนทีม

    4. Board engagement หรือปฏิสัมพันธ์กับกรรมการบริษัท ซีอีโอที่เก่งนั้น จะทำหน้าที่ในเชิงรุกในการช่วยให้กรรมการสามารถทำหน้าที่ช่วยเหลือองค์กรได้ดีขึ้น ซีอีโอกลายเป็นผู้ช่วยทำให้กรรมการได้มีทักษะที่เหมาะสม ใช้เวลากรรมการได้อย่างมีประโยชน์ที่สุด ประชุมบอร์ดเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส มีประสิทธิผล สำคัญสุดคือซีอีโอจะต้องดูแลบอร์ดเพื่อให้บอร์ดสามารถกลับมาช่วยองค์กรได้ดีที่สุด

    5. Stakeholder connection หรือความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร ซีอีโอที่เก่งจะเริ่มจากการทำความเข้าใจต่อแรงจูงใจ ความคาดหวัง หรือ ความหวั่นเกรงที่ Stakeholder มีต่อองค์กร จากนั้นก็จะหาหนทางในการดูแลและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดา Stakeholder

    6. Personal effectiveness หรือการบริหารและดูแลตนเอง สำหรับซีอีโอที่เก่งนั้น สิ่งที่สำคัญเลยคือการมีวินัยในตนเอง ทั้งวินัยที่จะทำเฉพาะในสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้ ซึ่งนำไปสู่การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ

    ทั้ง 6 ประการข้างต้นเป็นเพียงแค่กรอบเบื้องต้นเท่านั้น ในแต่ละแนวทางก็จะมีรายละเอียดที่ลงไปอีก ที่สำคัญคือไม่ได้มีการพบว่ามีซีอีโอคนไหนที่เก่งกาจในทั้ง 6 หน้าที่ แต่ซีอีโอที่ประสบความสำเร็จนั้นจะโดดเด่นในบางหน้าที่

ส่วนในหน้าที่อื่นๆ นั้นจะสามารถทำได้อย่างดี และพบว่ายิ่งซีอีโอโดดเด่นในหน้าที่ต่างๆ มากเท่าไร โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน.

คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]