“ผู้ว่าฯ กทม.” ขอความจริง | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
อึดอัดกันพอสมควร มากน้อยแตกต่างกันไปในความรู้สึกของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้เป็นเพราะไม่มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) มานานถึง 9 ปี
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ จึงดูจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ หากแต่ถ้าสำรวจนโยบายหาเสียงของ ผู้สมัครแต่ละคนจะพบว่า ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก
แม้ชุดนโยบายหาเสียงของผู้สมัครในปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัยเมื่อเทียบเคียงกับชุดนโยบายหาเสียงของผู้สมัครในอดีต แต่โดยภาพรวมแล้ว นโยบายหลักๆ ยังคงวนเวียนอยู่กับความพยายามที่จะนำเสนอทางแก้ปัญหาเดิมๆ ที่ชาว กทม. ประสบมายาวนาน
นโยบายหาเสียงที่ถูกนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาเดิมๆ อาทิเช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม นโยบายที่ถูกนำเสนอก็คือ การปรับปรุงการระบายน้ำ การลอกท่อ-ลอกคลองทั่วเมือง รวมไปถึงการบริหารจัดการผังเมืองเสียใหม่ เป็นต้น
การแก้ปัญหาการจราจรติดขัด นโยบายที่ถูกนำเสนอก็คือ ยกระดับระบบรถสาธารณะ พัฒนาการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น
ปัญหาพื้นที่สีเขียว นโยบายที่ถูกนำเสนอก็หนีไม่พ้น การสร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น รณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้มากขึ้น ขยายพื้นที่สีเขียวทั่วเมือง เป็นต้น
ปัญหาขยะมูลฝอย นโยบายที่ถูกนำเสนอก็หนีไม่พ้น การปรับปรุงและยกระดับการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ มีระบบคัดแยกขยะที่ได้ประสิทธิผล มีการจัดเก็บขยะอย่างรวดเร็วขึ้น
รวมไปถึงความพยายามที่จะสร้างระบบให้ผู้ที่สร้างขยะมูลฝอยเป็นหลักต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะ เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นชุดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านเด็ก คนชรา ผู้ทุพพลภาพ ฯลฯ
ในส่วนของนโยบายที่ดูจะแตกต่างจากในอดีตก็คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ที่ทันสมัยมาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน กทม. ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสุขภาพ รวมไปถึงการยกระดับการบริหารหน่วยงานต่างๆ ของ กทม. ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัครในครั้งนี้ท่านหนึ่งได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า แท้จริงแล้วผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจ โดยตรงในการบริหารงบประมาณเพียง 20,000 กว่าล้นบาทต่อปีเท่านั้น หาใช่ 100,000 กว่าล้านบาทต่อปี อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่
และในงบประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท ที่ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจโดยตรงในการบริหารนั้น จะต้องถูกใช้จ่ายไปตามกรอบที่วางไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของผู้ว่าฯ กทม. คือ การหารายได้เพิ่มเพื่อเป็นงบประมาณในการใช้จ่ายตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องและคล้ายคลึงกับข้อมูลของนักการเมืองท่านหนึ่งที่เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และเคยกล่าวไว้ว่า ในความเป็นจริงแล้วนโยบายต่างๆ ของผู้สมัครแต่ละรายที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียงนั้น ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก และใช่ว่าผู้ว่าฯ กทม. จะมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้
หากแต่หลายนโยบายจะเกิดขึ้นได้จริงจำต้องประสานงานขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่รับผิดชอบตรง เพราะอยู่นอกเหนือวิสัยที่ทางผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถใช้อำนาจโดยตรงได้ และที่สำคัญ หากจะทำให้นโยบายหาเสียงเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง กทม. จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล
อาจกล่าวได้ว่า หากข้อมูลข้างต้นที่เป็นข้อสงสัยของหลายคนเป็นความจริง ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่หน่วยงานหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำต้องออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนชาว กทม. ได้รับรู้ รับทราบข้อเท็จจริง
เพื่อจะเป็นข้อมูลให้กับชาว กทม. ที่มีสิทธิออกเสียงในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้ได้ผู้ว่าฯ ที่เก่งจริง ผู้ว่าฯ ที่รู้และเข้าใจปัญหา กทม. จริง ผู้ว่าฯ ที่สามารถบริหารจัดการให้ กทม. ดีขึ้นจริง ผู้ว่าฯ ที่ไม่สร้างฝันแต่ทำความหวังให้เกิดขึ้นจริง และที่สุดก็จะได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นคนดีอย่างแท้จริง
ยิ่งกว่านั้น หากข้อสงสัยดังกล่าวนี้ถูกทำให้กระจ่างชัดแล้ว อาจเป็นได้ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จำต้องคำนึงถึงนโยบายของผู้สมัครท่านใดที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ให้กับ กทม. โดยไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อชาว กทม.
ดังนั้น ปัจจัยในการตัดสินใจลงคะแนนให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คงไม่ใช่พิจารณาเฉพาะนโยบายของผู้สมัคร เพราะบางนโยบายอาจทำไม่ได้จริง หรือคงไม่ใช่พิจารณาเฉพาะคุณสมบัติและความสำเร็จที่ผ่านมาของผู้สมัคร เพราะความสำเร็จเหล่านั้นอาจไม่เกิดขึ้นหากต้องบริหารงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ภายใต้ข้อจำกัดที่แท้จริง
ที่สุดแล้ว คุณงามความดีของผู้สมัครที่เคยทำต่อ กทม. หรือสังคมไทยมาในอดีต อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็เป็นได้!