อินเดียกับเกมการเมืองสหรัฐฯ-จีน-รัสเซีย | ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
มองจีนมองไทย หลายคนถามว่า อีกหนึ่งมหาอำนาจอย่างอินเดียอยู่ข้างไหนกันแน่ในศึกภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ร้อนแรงในวันนี้
อินเดียมีความสำคัญ เพราะมีประชากรถึง 1.3 พันล้านคน และต่อไปจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก (แทนที่จีน ซึ่งเผชิญปัญหาประชากรหด จากนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มายาวนาน)
หากดูผิวเผิน อินเดียดูเหมือนอยู่ข้างสหรัฐฯ เพราะอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มจตุภาคี (The Quad) ในเอเชีย ซึ่งมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดด้านความมั่นคง อันได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย สหรัฐฯ ยังย้ำเน้นเสมอว่ามีค่านิยมทางการเมืองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเช่นเดียวกับอินเดีย และต่างก็ไม่พอใจจีนและเห็นจีนเป็นภัยคุกคามสำคัญเช่นเดียวกัน
แต่ท่ามกลางสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย อินเดียกลับมีจุดเยือนเหมือนกับจีน อินเดียไม่ออกมาประณามรัสเซีย แถมยังซื้อพลังงานเพิ่มจากรัสเซียอีกด้วย
แม้กระทั่งการโหวตเรื่องประณามรัสเซียในเวทีสหประชาชาติ อินเดียก็โหวตเหมือนกับจีน (งดออกเสียง) แต่ในขณะที่สหรัฐฯ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และประณามจีนอย่างหนักว่าเป็นพวกรัสเซีย
แต่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กลับหลีกเลี่ยงที่จะวิจารณ์อินเดีย แถมยังบอกว่าเข้าใจการวางตัวที่ลำบากของเพื่อนในกรณีนี้ แถมย้ำต่อว่าจุดยืนของอินเดียที่แปลกแยกในเรื่องนี้จะไม่กระทบสถานะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียที่แน่นแฟ้น
มีคำถามสองข้อที่หลายคนถามผม ข้อแรก เหตุใดอินเดียจึงไม่สามารถที่จะประณามรัสเซียแบบเดียวกับเพื่อนรักคนอื่นของสหรัฐฯ (เป็นเพื่อนรักกันจริงหรือไม่) ข้อที่สอง หลายคนสงสัยว่า อินเดียกับจีนเป็นคู่แค้นฝังรากจริงไหม หรือมีโอกาสที่ในอนาคตที่อินเดียอาจเปลี่ยนขั้วมาเป็นพันธมิตรร่วมกับจีนและรัสเซีย สร้างอีกขั้วอำนาจขึ้นมาแข่งกับสหรัฐฯ และตะวันตก
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า อินเดียและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต ในขณะที่สหรัฐฯ กับอินเดียนั้นความสัมพันธ์มีขึ้นมีลง แต่รัสเซียเป็นมิตรที่ดีต่ออินเดียเสมอมา
อินเดียมีศัตรูที่ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำคือปากีสถาน ซึ่งในช่วงสงครามเย็นสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับปากีสถาน จนผลักอินเดียไปสนิทกับสหภาพโซเวียตในยุคนั้น รัสเซียจึงเป็นเพื่อนแท้ของอินเดียมาตลอดและยืนข้างอินเดียในเรื่องข้อพิพาทเขตแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถานมาอย่างยาวนาน
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงยังอธิบายว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ด้านการทหารของอินเดียนั้น ซื้อและใช้ของรัสเซียเป็นหลัก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นต้นมา 2 ใน 3 ของอาวุธของกองทัพอินเดียนำเข้ามาจากรัสเซีย
ทำให้อินเดียต้องพึ่งพารัสเซียในการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพราะใช้เทคโนโลยีของรัสเซีย เพียงแค่เหตุผลข้อนี้เพียงข้อเดียว อินเดียไม่สามารถผิดใจกับรัสเซียได้
อินเดียยังต้องการรัสเซียมาช่วงถ่วงดุลจีนในภูมิภาค ในเรื่องต่าง ๆ ที่อินเดียบาดหมางกับจีน อินเดียก็ไม่ต้องการให้รัสเซียเข้าข้างและสนับสนุนจีน อินเดียยังเป็นประเทศที่มีประชากรมหาศาลและมีความต้องการพลังงานสูง
ที่ผ่านมา รัสเซียเป็นผู้เข้าไปลงทุนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในอินเดียถึง 6 แห่ง (ในขณะที่สหรัฐฯ และตะวันตกไม่ยอมเข้าร่วมการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอินเดีย)
ช่วงชุลมุนของสงครามยูเครนครั้งนี้ อินเดียอาศัยจังหวะของการคว่ำบาตรของตะวันตกต่อรัสเซีย รีบเพิ่มปริมาณการซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซียไม่ต่างจากที่จีนทำ มีรายงานว่ารัสเซียเองเสนอขายพลังงานในราคาพิเศษให้กับอินเดีย แถมรัสเซียยังเสนอจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าขนส่งและค่าประกัยภัยให้เองอีก เรียกว่าลดแลกแจกแถมสำหรับอินเดียสุด ๆ
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ กับอินเดียไม่ได้สนิทแน่นแฟ้นกันแบบแยกไม่ขาด เพราะสหรัฐฯ เองจนตอนนี้ก็ยังไม่ยอมขายอาวุธเทคโนโลยีชั้นสูงให้อินเดีย (เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่าอินเดียจะแบ่งปันเทคโนโลยีกับรัสเซีย)
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลอินเดียในปัจจุบันเกี่ยวกับการเป็นเผด็จการรัฐสภา การปลุกกระแสเชื้อชาตินิยม รวมทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชนในอินเดีย จนตอนที่ประธานาธิบดีไบเดนเชิญให้อินเดียเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2021 ก็มีเสียงวิจารณ์ไม่น้อยจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ
แต่สิ่งที่สหรัฐฯ และอินเดียมีร่วมกันและผูกสองมิตรนี้ไว้ก็คือ การที่ทั้งสองต่างมองจีนเป็นภัยคุกคาม นี่น่าจะทำให้อินเดียบวกลบคูณหารแล้วว่า ถึงสหรัฐฯ จะไม่พอใจอินเดียอย่างไร สหรัฐฯ ก็ไม่มีทางจะประณามอินเดียหรือคว่ำบาตรอินเดียไปด้วย
เพราะอย่างไรเสียสหรัฐฯ ก็ต้องการอินเดียเป็นมิตรสำคัญในการปิดล้อมจีนในภูมิภาคเอเชีย อินเดียยิ่งเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคที่สหรัฐฯ ขาดไม่ได้ ในวันที่จีนและรัสเซียเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกันในทางยุทธศาสตร์
คำถามต่อมาคือ อินเดียกับจีนผิดใจกันเรื่องอะไรมาอย่างยาวนาน คำตอบก็คือ ปัญหาเขตแดนระหว่างสองประเทศ ซึ่งอินเดียกับจีนมีเขตแดนเชื่อมต่อกันที่ยาวเหยีดถึง 4,056 กิโลเมตร และมีจุดพิพาทหลายจุด และเคยถึงกับมีสงครามจีน-อินเดียในปี ค.ศ. 1962
ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา การพิพาทที่เป็นต้นเหตุให้ความสัมพันธ์เข้าสู่จุดต่าสุด คือการปะทะกันที่ชายแดนบริเวณลาดัก รัฐจัมมู และแคชเมียร์เดิมในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2020 ซึ่งมีทหารเสียชีวิต ไม่ว่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดหรืออุบัติเหตุ แต่ด้วยกระแสชาตินิยมของทั้งคู่ ต่างก็ไม่ยอมถอยในการสร้างกระแสโจมตีอีกฝ่ายภายในประเทศ
จีนตอนนี้ยังกลายเป็นเพื่อนคนสำคัญของปากีสถาน ซึ่งเป็นคู่แค้นของอินเดีย ในมุมมองของจีน ก็คือต้องอาศัยปากีสถานกดดันและปิดล้อมอินเดียด้วยนั่นเอง ในระยะสั้น จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่อินเดียกับจีนจะประสานรอยร้าวระหว่างกันได้
แม้ทั้งสองฝ่ายจะพยายามรักษาระดับความสัมพันธ์ไม่ให้ดิ่งเหวลงมากกว่านี้ ตอนนี้อินเดียจึงเป็นประเทศที่มีจุดยืนในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าสนใจ นั่นคือ บาดหมางกับจีน ในขณะเดียวกันก็สนิทได้กับทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย
คอลัมน์ มองจีนมองไทย
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ด้านกฎหมายและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย