2022: เมื่อจีนเข้าสู่วัยกลางคนอย่างสมบูรณ์ | อาร์ม ตั้งนิรันดร
ในชีวิตคนเรา เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่ง อาจเริ่มเผชิญวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) แม้ว่าสติปัญญาจะยังคมชัด ประสบการณ์ก็สั่งสมมามากมาย แต่เครื่องเริ่มอ่อนแรง กำลังวังชาไม่เหมือนวัยหนุ่มสาวอีกต่อไป
ประเทศเองก็ไม่ต่างกัน ประเทศที่ยังหนุ่มแน่น เติบโตขึ้นมาจากจุดที่ต่ำ อาจเติบโตได้ในอัตราที่สูง แต่ถึงจุดหนึ่งย่อมค่อยๆ ชะลอตัวตามธรรมชาติ เสมือนจากวัยรุ่นเข้าสู่วัยกลางคน
หากดูค่ามัธยฐานของอายุประชากรจีน ในปี ค.ศ. 1990 อยู่ที่ 25.3 ปี กำลังหนุ่มแน่น แต่มาถึงปี ค.ศ.2000 อยู่ที่ 30.8 ปี พอถึงปี ค.ศ.2021 อยู่ที่ 38.8 ปี ยิ่งเข้าใกล้ช่วงวัย 40 ปัญหาโครงสร้างประชากรและการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วและแรง เริ่มกดตัวเลขและศักยภาพการเติบโตของจีนมาอย่างต่อเนื่อง
ในปี ค.ศ.2012 จีนเติบโตในระดับ 8% พอในปี ค.ศ.2019 ก่อนเกิดโควิด ก็ตกลงมาที่ระดับ 6% แล้ว ภายหลังโควิด เมื่อเริ่มกลับมาปกติ ประเมินกันว่าในปีหน้า ค.ศ.2022 จีนจะโตอยู่ในระดับ 5% เท่านั้น หากเทียบกับเมื่อยุคปี ค.ศ.2010 เท่ากับลดลงเกือบครึ่งเลยทีเดียว
ปี ค.ศ. 2022 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจจีนเข้าสู่วัยกลางคนอย่างสมบูรณ์ ในช่วงเวลาใหม่นี้ รัฐบาลจีนจะเปลี่ยนมาเน้นที่ความมั่นคงและการกำกับดูแลมากขึ้น แตกต่างจากวัยหนุ่มสาวที่พร้อมเสี่ยง พร้อมโตอย่างร้อนแรงและฟรีสไตล์ ลองผิดลองถูกได้อย่างเต็มที่ เพราะตอนยังหนุ่มแน่นนั้น ถึงผิดถึงพลั้งไปหน่อยก็ไม่ถึงตาย เนื่องจากศักยภาพการเติบโตยังมหาศาล
แต่บัดนี้หมดยุคสมัยความร้อนแรงแบบเดิมแล้ว ขืนฟองสบู่ลูกใหญ่แตกหรือมีวิกฤตไม่คาดฝันขึ้นมา คงดับฝันเส้นทางก้าวสู่บัลลังก์มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของจีนได้เลย
คำศัพท์เศรษฐกิจที่จะได้ยินบ่อยมากขึ้นในจีนคือ “Soft landing” กล่าวคือ ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่เติบโตช้าลง ยอมรับสภาพวัยกลางคนอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง โดยไม่เกิดวิกฤตและไม่เจ็บตัวแรง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็ตาม ความมั่นคงกลายมาเป็นเป้าหมายแรกที่รัฐบาลคิดถึง ไม่ใช่ความหวือหวาแบบฟรีสไตล์อีกต่อไป
ดังที่เราเห็นการกำกับดูแลภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบรรษัทภิบาล การคุ้มครองแรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยของข้อมูล การปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ทั้งหมดนี้จะเห็นว่าจีนกำลังเข้าสู่ยุคของการจัดระเบียบสังคมอย่างเต็มที่
ปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการจัดระเบียบ เพราะรัฐบาลจีนอาศัยจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจจีนดีดฟื้นจากโควิด ซึ่งเป็นการดีดจากจุดที่ต่ำมาก ทำให้ไม่มีแรงกดดันเรื่องตัวเลขการเติบโตมากนัก นายกฯ หลี่เค่อเฉียงบอกเป็น “ช่วงโอกาสทอง” ที่จะมาเน้นจัดระเบียบภาคส่วนต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนปีประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีหน้า ซึ่งจะมีการต่ออายุการนำวาระที่ 3 ของสีจิ้นผิง
หากปี ค.ศ.2021 เป็นปีหักปากกาเซียนและเซอร์ไพรส์หลายคนเกี่ยวกับการจัดระเบียบเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ปี ค.ศ.2022 กลับจะเป็นปีของความนิ่งและความแน่นอน เพราะกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการคุมความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ การกำกับดูแลความปลอดภัยของข้อมูล การป้องกันการผูกขาดของทุนใหญ่ การคุ้มครองแรงงาน ต่างล้วนปรากฏความชัดเจนเรียบร้อยแล้ว
แม้จะพูดโดยรวมว่าสังคมจีนเปรียบเหมือนกำลังเข้าสู่วัยกลางคน แต่ควรตั้งข้อสังเกตเพิ่มว่า ในแต่ละพื้นที่และแต่ละภาคเศรษฐกิจของจีนมีความแตกต่างกันในเรื่องนี้ ศ.เซียงช่วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้วิเคราะห์เป็นกฎ 3 ข้อ ของจีนยุคใหม่
1) ภาคเหนือของจีนเข้าสู่วัยกลางคนเร็วกว่าภาคใต้
2) เมืองเล็กเข้าสู่วัยกลางคนหนักกว่าเมืองใหญ่
3) ภาคอุตสาหกรรมหนักเข้าสู่วัยกลางคนมากกว่าภาคบริการ
ทั้งสามข้อมีความเชื่อมโยงกัน คนหนุ่มสาวในจีนรุ่นใหม่ต่างย้ายจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรมหนักไปทำงานในภาคบริการ และย้ายถื่นฐานจากชนบทและเมืองขนาดเล็กไปหาโอกาสทางเศรษฐกิจในเมืองขนาดใหญ่ โดยภาคเหนือของจีนเป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรมหนัก ส่วนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (เซี่ยงไฮ้ หังโจว ซูโจว) หรือลุ่มแม่น้ำไข่มุก (กวางเจา เสินเจิ้น ตงก่วน) ล้วนเป็นพื้นที่ของการเติบโตของภาคบริการและภาคเศรษฐกิจใหม่ทั้งสิ้น
เมืองใหญ่ 7 เมืองของจีน ที่มีสัดส่วนประชากรหนุ่มสาวสูงสุด ได้แก่ หางโจว คุนหมิง เซี่ยเหมิน ฝอชาน กวางเจา เสินเจิ้น และตงก่วน ทั้งหมดล้วนแต่อยู่ในภาคใต้ของจีน พูดอีกอย่างก็คือ ภายในจีนวันนี้ เศรษฐกิจภาคใต้คึกคักกว่าภาคเหนือ เศรษฐกิจเมืองใหญ่คึกคักกว่าเมืองเล็ก และภาคบริการคึกคักกว่าภาคอุตสาหกรรมเก่า
ในภาพใหญ่กว่านั้น การเปรียบเทียบว่าสังคมจีนกำลังเข้าสู่วัยกลางคนแปลว่าอะไร ก็เหมือนชีวิตคนนั่นแหละครับ วัยกลางคนสะท้อนข้อเท็จจริงพื้นฐานว่าเรี่ยวแรงไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่ทำอะไรง่ายๆ ก็โตได้สูงอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันวัยกลางคนก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องหมดแรงสู้ยกธงขาว จะเลิกสู้หรือจะเลือกสู้ต่อ เป็นทางเลือกเสมอครับ.
คอลัมน์ มองจีนมองไทย
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ด้านกฎหมายและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย