“หลาดใต้โหนด” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

“หลาดใต้โหนด” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงรวมทั้งประเทศไทย โดยธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และส่งผลกระทบไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ชวนให้ตั้งคำถามสำคัญว่า 
เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engines) ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว คลี่คลายปัญหาความไม่เสมอภาค และพลิกวิกฤติ COVID-19 ให้เป็นโอกาสไปได้พร้อม ๆ กันควรเป็นอย่างไร?  จากการวิเคราะห์ข้อมูลการทบทวนวรรณกรรมและการสัมภาษณ์ สถาบันอนาคตไทยศึกษาเสนอแนวทางไว้ 3 หลักการดังนี้
 
1. ทำน้อยให้ได้มาก
ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างผลทวีคูณ (Multiplier / Spillover) เช่น การผลักดันธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกกับธุรกิจ/อุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์เป็นวงกว้าง  
 
2. กระจายโอกาสความเจริญ
เพื่อบรรเทาการ “รวยกระจุก จนกระจาย” เศรษฐกิจใหม่ควรออกแบบให้เกิดการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ดึงศักยภาพและพลังความคิดสร้างสรรค์จากท้องถิ่น และถือโอกาสเยียวยาปากท้องช่วง COVID-19 ไปในตัว

3. มองยาวได้ แต่ต้องคล่องตัว
เราอยู่ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวตลอดเวลา เศรษฐกิจใหม่จึงต้องยืดหยุ่นเผื่อสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอน สามารถออกดอกออกผลได้ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 
 
หนึ่งในเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพการพัฒนาในบริบทประเทศไทย ได้แก่ โครงข่ายเศรษฐกิจท้องถิ่น (Networked Local Economies) ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นการเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างท้องถิ่น สนับสนุนนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ จากแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และเกิดการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

เราจะพัฒนาโครงข่ายเศรษฐกิจท้องถิ่นของไทย อย่างเข้าใจบริบทพื้นที่และยั่งยืนได้อย่างไร?
ตลาดนัดชุมชนสีเขียว “หลาดใต้โหนด” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความหวังอย่างเป็นรูปธรรม เครือข่ายกินดี มีสุข จ.พัทลุง นำโดยคุณประไพ ทองเชิญ

เริ่มต้นจากการลงพื้นที่ทำความเข้าใจ "ของดี” ของแต่ละหมู่บ้าน รวมทั้งทำความเข้าใจความต้องการของชุมชน จากนั้นจึงนำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีมาขับเคลื่อนต่อด้วยศักยภาพชุมชน ก่อตั้งเป็นหลาดใต้โหนด 

แนวคิดหลักของตลาดชุมชนแห่งนี้คือ “ทุกคนเป็นเจ้าของตลาดร่วมกัน” พ่อค้าแม่ค้าคือคนในชุมชน บริหารจัดการตลาดด้วยตนเองผ่านอุดมการณ์ที่มีร่วมกัน เช่น อาหารต้องใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น ปลอดภัย ใช้วัสดุจากธรรมชาติ คนทำงานต้องมีความสุข เป็นต้น

ด้านการบริหารจัดการทรัพยากร มีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยออกแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สร้างขยะน้อยที่สุด ร้านค้ายินดีรับฝากขยะจากลูกค้าเพื่อนําไปคัดแยกสําหรับทําปุ๋ยหมัก เผาถ่าน รีไซเคิล และขายต่อไป

“หลาดใต้โหนด” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

นอกจากนี้ สมาชิกชุมชนยังออกแบบให้ตลาดขายทุกวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นเวลาที่พอเหมาะในการเตรียมสินค้าที่มีคุณภาพ สะอาด สดใหม่ ปลอดสารพิษ และพอเหมาะในการบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางให้สะอาด สร้างความสุขแก่ผู้มาเยี่ยมเยียน
 
รายได้จากทุกองค์ประกอบของสิ่งที่นำมาขาย ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณธัญญาหารจากสวนคนในชุมชน เครื่องปรุงที่ชาวบ้านหมักเอง ไปจนถึงสินค้าแฮนด์เมดของคนท้องถิ่น ล้วนหมุนเวียนกลับสู่ชุมชนทั้งสิ้น ไร้พ่อค้าแม่ค้าคนกลาง นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรายได้ของคนในชุมชนแล้ว

หลาดใต้โหนดยังเป็นตลาดที่ได้รับการยอมรับในรูปแบบการบริหารจัดการ จึงมีตลาดอื่น ๆ มาศึกษาดูงาน และขอคำแนะนำในการขยายผลโมเดลหลาดใต้โหลดไปยังพื้นที่อื่น ๆ อาทิ ตลาดสวนไผ่ ตลาดต้นไม้ชายคลอง จ.พัทลุง และตลาดใต้เคี่ยม จ. ชุมพร 

“หลาดใต้โหนด” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
 
คุณประไพทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจความต้องการของชุมชนและการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน แล้วการพัฒนาและความยั่งยืนจะมาจากศักยภาพของคนในชุมชนเอง

แนวทางพัฒนาโครงข่ายเศรษฐกิจท้องถิ่นของไทยอาจมีได้หลากหลายมากกว่าตลาดชุมชน ที่สำคัญ ความหลากหลายที่กระจายอยู่ทั่วท้องผืนดินไทย คือ เสน่ห์ และโอกาสแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ไม่มีขีดจำกัด.