ไปศาลตามหาคริปโท (ตอน 2) | พิเศษ เสตเสถียร

ไปศาลตามหาคริปโท (ตอน 2) | พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อเงินคริปโทถูกคนขโมยไป เจ้าของก็เลยต้องมาขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าขโมยเป็นใคร เพราะในระบบของคริปโทเคอร์เรนซีนั้นไม่มีการเปิดเผยชื่อ ศาลสิงคโปร์ได้ตัดสินไว้เป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง เนื้อหาของคดีเป็นภาคต่อจากตอนที่แล้ว

ประเด็นถัดมา เงินดิจิทัลนั้นมีสถานะเป็นอะไร? ศาลได้ตัดสินว่า เงินคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ในความหมายของทรัพย์สินตามกฎหมาย

โดยอ้างอิงคำพิพากษาของนิวซีแลนด์คดี Ruscoe v Cryptopia Ltd (in liq) [2020] 2 NZLR 809 และข้อสังเกตในคดีของศาลอุทธรณ์สิงคโปร์ในคดี Quoine Pte Ltd v B2C2 Ltd [2020] 2 SLR 20 

ตามพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ได้ให้ความหมายของคำว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” ไว้ว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์

โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกําหนด” จะเรียกว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างก็คงจะได้

  และในพระราชกำหนดฉบับนี้ มาตรา 6 ก็บอกว่า ในกรณีที่ต้องมีการส่งมอบ การโอน การยึดถือหรือส่งคืนคริปโทเคอร์เรนซีให้ใช้คริปโทเคอร์เรนซีประเภทและชนิดเดียวกัน และจํานวนเท่ากันแทนกันได้

แสดงถึงสิทธิในการส่งมอบ โอน ยึดถือ ส่งคืนซึ่งทรัพย์สิน ดังนั้น กฎหมายไทยก็คงยอมรับนับถือ “คริปโทเคอร์เรนซี” ให้เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง

ไปศาลตามหาคริปโท (ตอน 2) | พิเศษ เสตเสถียร

ประเด็นที่ 3 ซึ่งสำคัญที่สุดคือ ศาลจะมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินชั่วคราวได้หรือไม่?

ศาลเห็นว่าทรัพย์สินในคดีมีความเสี่ยงที่จะถูกทำให้เสียหายหรือสูญหาย ดังนั้นจึงได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการจำหน่ายจ่ายโอนเทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปนั้น ศาลยังได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์ชั่วคราวทั่วโลก (worldwide freezing injunction) ต่อทรัพย์สินซึ่งถูกขโมยไปนั้น

 เพราะศาลเห็นว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่ทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกจำหน่ายจ่ายโอนไป โดยการกดปุ่มครั้งเดียวไปสู่กระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งไม่สามารถระบุชื่อหรือตัวตนของผู้เป็นเจ้าของ และก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นในประเทศสิงคโปร์เพียงพอที่จะบังคับคดี 

ส่วนตามกฎหมายไทยนั้น เมื่อคริปโทเคอร์เรนซีเป็นทรัพย์สินซึ่งอาจบังคับคดีได้ดังกล่าวมาแล้ว ก็คงจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการยึดและอายัด ในเรื่องนี้ทางกรมบังคับคดีก็เคยศึกษาถึงเรื่องวิธีการบังคับคดีทรัพย์สินดิจิทัลอยู่ 

แต่สังเกตว่าคำสั่งศาลที่ให้อายัดทรัพย์ของจำเลยในคดีที่ศาลสิงคโปร์นี้เป็นคำสั่งอายัดทรัพย์ชั่วคราวทั่วโลก (worldwide freezing injunction) คือมีผลใช้บังคับได้ทั่วโลก (ส่วนจะบังคับได้เพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ไปศาลตามหาคริปโท (ตอน 2) | พิเศษ เสตเสถียร

ศาลไทยจะออกคำบังคับแบบนี้ได้หรือไม่ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะการขอชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษานั้นก็ต้องถือตามเขตอำนาจศาล และหลักที่ยึดถือกันตลอดมาก็คือหลัก “ดินแดน” 

ดังนั้น การที่ศาลจะให้คำสั่งของตนให้มีผลบังคับได้ทั่วโลกนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ศาลยังได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และ 3 (ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) เปิดเผยรายละเอียดที่มีเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอนเงินดิจิทัลในคดีนี้เพื่อให้โจทก์สามารถดำเนินการติดตามตัวผู้โอนและผู้รับโอนสินทรัพย์ดิจิทัลได้

นอกจากนี้ ศาลยังได้ให้ส่งคำคู่ความและคำสั่งในคดีให้แก่จำเลยในรูปของอีเมลได้ด้วย เพราะเหตุว่าการส่งเอกสารต่างๆ ดังกล่าวโดยวิธีปกติไม่เหมาะสมกับคดีนี้ เพราะตำบลที่อยู่ของจำเลยไม่ปรากฏ แต่โดยที่การติดต่อระหว่างจำเลยกับศูนย์ซื้อขายจะกระทำผ่านอีเมลเท่านั้น 

ศาลจึงให้ส่งเอกสารได้โดยทางอีเมล การส่งคำคู่ความรวมทั้งเอกสารของศาลอย่างอื่นนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ได้บัญญัติให้ส่งโดย “ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศ” เท่านั้น 

การส่งโดยทางอีเมลนั้นจะถือว่าเป็นการส่งโดยทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 หรือไม่ก็ยังไม่ชัดเจน

สิงคโปร์พยายามแข่งขันให้ประเทศตัวเองเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศกับฮ่องกง ศาลของประเทศสิงคโปร์ก็พยายามตัดสินคดีด้วยการตีความกฎหมายให้ทันสมัย เพื่อให้กฎหมายสิงคโปร์รองรับธุรกรรมระหว่างประเทศได้

ในขณะที่กฎหมายของไทยเรายังมีบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนและไม่ทันสมัยอยู่อีกไม่น้อยในการทำธุรกิจการเงิน.