ไทยจะฟื้นตัวหลังโควิด-19 อย่างไร?(ตอนจบ) | วิกรม กรมดิษฐ์
สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหายากจนออกจากประชาชนคนไทย คือการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับคนในต่างจังหวัด โดยใช้เทคโนโลยีอย่างเช่น สมาร์ทโฟนที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์
เท่าที่พอจะทราบคือ มีความร่วมมือกับ YouTube ครู เจ้าหน้าที่ทางการเกษตร หรือเกษตรสหกรณ์ สอนใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพสินค้าให้สามารถนำมาขายในโซเชียลมีเดีย
รวมถึงสอนวิธีการพูดเล่าเรื่อง สร้าง Story ให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ข้าวและสินค้าแปรรูปต่างๆ หรืออะไรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้มีความน่าสนใจ สามารถเชื่อมต่อกับคนทั่วโลกได้ รวมถึงสอนใช้โปรแกรมตัดต่อทำวีดิโอผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาพบหน้า
ปัจจุบัน หากสังเกตดูก็จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลาออกจากงานและกลับภูมิลำเนา เพื่อไปประกอบอาชีพที่พึ่งพาตนเองและอยู่แบบวิถีพอเพียง กลุ่มคนนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ สามารถใช้เทคโนโลยีง่ายๆ นำต่อเข้ากับโซเชียลมีเดีย
โครงการ AMATA Smart City ถือเป็นอีกช่องทางที่เข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเรื่องต่างๆ เหล่านี้ แต่ต้องมีการดำเนินงานในรูปแบบเดียวกันกับของประเทศจีน
เราจะเห็นได้จากตัวอย่างง่ายๆ คือวันนี้ประเทศจีนให้ความสำคัญกับเรื่องการสนับสนุนงานวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสถาบันต่างๆ ในแต่มณฑลแต่ละอำเภอมีการทำระบบให้บริการทางด้านการวิจัย/ปรับปรุงสินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะในชุมชน
ในขณะที่คนพอเริ่มจะมีความรู้ รัฐบาลก็จะจัดส่งนักเรียนที่จบใหม่ไปเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนในชนบทในชุมชนของตนเองหรือชุมชนใกล้เคียง ทางด้านการวิเคราะห์วิจัยผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รวมถึงจัดทีมอาสาสมัครไปร่วมพัฒนาชุมชนเหล่านี้ด้วย ซึ่งใน 1 ปีมีนักเรียนจบใหม่มากกว่า 1 ล้านคน
ประเทศไทยน่าจะต้องลองมาศึกษาดูว่า ประเทศจีนดำเนินการได้อย่างไร โดยที่รัฐบาลจะต้องเป็นแกนนำสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ รัฐบาลสามารถขอความร่วมมือจากภาคเอกชนที่พร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณได้ง่ายขึ้น
วิกรม กรมดิษฐ์
ผมเชื่อว่าภาคเอกชนยักษ์ใหญ่หลายแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนในการสร้าง Silicon Valley นี้ด้วยกันเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชน
การพัฒนาเรื่องต่างๆ เหล่านี้หากรัฐบาลมีแนวทางบริหารจัดการงบประมาณที่ดี ก็จะทำให้ประเทศไม่ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาเรื่องดังกล่าว
ยกตัวอย่างจากประเทศจีนกับการสร้างถนนหลวง รัฐบาลสามารถจัดสร้างโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาประมูล โดยมีแผนแม่บทเป็นตัวกำกับเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาการก่อสร้าง ต้นทุน และการคืนทุน ที่เขียนไว้อย่างชัดเจน
โดยเฉพาะเรื่องของการเก็บค่าบริการที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ที่ให้ประชาชน ผู้ใช้บริการ สามารถใช้งานได้โดยมีค่าบริการที่สมเหตุสมผล ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่จัดหาพื้นที่สำหรับการสร้างถนนเอาไว้รองรับการลงทุน ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐบาล และในการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ อีกหลายอย่างในประเทศจีนก็ใช้นโยบายนี้เช่นเดียวกัน
เช่นเดียวกับการสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาต่างๆ หากรัฐบาลสามารถเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ มีการเก็บค่าบริการในการวิจัยและค้นคว้าแต่ต้องทำภายใต้มาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ก่อนอย่างชัดเจน เชื่อว่าผู้ที่ต้องการงานวิจัยในการพัฒนาสินค้าก็พร้อมที่จะจ่ายค่าบริการในราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องกระจายศูนย์บริการพร้อมบุคลากร ที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆ โดยที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าตอบแทนนักวิจัย
การดำเนินการเช่นนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างโมเดลที่ดีในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหรือคนจนที่อยู่ตามต่างจังหวัดให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้.