ไทยจะฟื้นตัวหลังโควิดอย่างไร? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์
วันนี้ประเทศไทยน่าจะก้าวมาถึงจุดสำคัญ ของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ
จะเห็นได้ว่าหลายประเทศทั้งในยุโรปและประเทศอื่นๆ เริ่มมีการออกมาพูดถึงเรื่องการยกเลิกมาตรการควบคุมต่างๆ เพื่อให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนของประเทศไทยก็เริ่มมีแนวคิดเรื่องของการประกาศให้โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในก่อนสิ้นปีนี้
ถึงแม้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะยังมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่มีการตรวจพบจากรูปแบบ RT-PCR: Real Time-Polymerase chain reaction และ ATK: Antigen Test Kit ซึ่งมียอดผู้ป่วยสูงมากกว่า 16,000 คนต่อวัน ในจำนวนนี้ยังไม่รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจและสามารถเป็นผู้แพร่เชื้อได้
ในขณะเดียวกันก็มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ออกมาให้ความเห็นว่า ประเทศไทยน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ได้ในเร็วๆ นี้ ประเทศไทยจะออกจากคำว่า ฉุกเฉิน แต่ประชาชนก็ยังคงต้องมีความระมัดระวังเรื่องของการติดเชื้อไวรัสนี้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เพราะหากมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่องของงบประมาณภาครัฐอาจไม่เพียงพอต่อการรองรับการรักษาผู้ป่วยระยะยาวในอนาคต
หากถามว่าประเทศไทยในขณะนี้นั้นยืนอยู่ ณ จุดไหนของสถานการณ์นี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าในเรื่องนี้สามารถมองได้หลายมุมมอง ถ้ามองแบบต่างชาติก็จะมองว่าเรื่องนี้อาจจะไม่มีอะไรน่ากังวลมากมายเท่าไหร่นัก
ถ้ามองแบบคนจีนก็จะมองว่าเรื่องนี้ยังไม่สามารถเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่ถ้ามองแบบคนไทยสำหรับผมจะมองที่จำนวนของผู้คนที่เสียชีวิตเป็นหลัก หากว่าวันนี้มียอดผู้ป่วยและรักษาหายได้ปกติตรงนี้ไม่น่ากังวลอะไร หรือหากมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตไม่เกิน 20 คนต่อวันก็คิดว่าน่าจะยังอยู่ในขั้นที่ยอมรับได้แต่คนไทยต้องการ์ดไม่ตก
แต่ถ้าปัจจุบันประเทศไทยยังมีจำนวนผู้ติดเชื้ออีกเป็นจำนวนมาก ยังคงเป็นหลักหมื่น และยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะเป็นผู้ที่ติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อได้ ก็จะถือได้ว่าภาวะนี้ยังไม่ใช่ภาวะปกติเพราะเรายังคงต้องอยู่ในช่วงเฝ้าระวังกันอย่างมากๆ ต่อไป
วันนี้เราจึงจะมาวิเคราะห์กันว่าทำอย่างไรให้ชีวิตเรากลับไปสู่ภาวะปกติให้ได้อย่างเร็วที่สุด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของเราปีนี้ที่ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในบางอุตสาหกรรม หลังจากที่ประเทศของเราอยู่อย่างยากลำบากมาก 2 ปีกว่า
เราจะมาดูกันว่าจากนี้ไปเราควรปฏิบัติตัวกันอย่างไรหรือทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เศรษฐกิจของเราฟื้นตัวขึ้นและธุรกิจอะไรบ้างที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว อะไรที่น่าจะฟื้นตัวยากรวมถึงในส่วนของธุรกิจ SME ต้องปฏิบัติตัวเช่นไร
สิ่งแรกต้องเริ่มดูจากกลุ่มธุรกิจที่เป็นความต้องการใช้ทั่วไป อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ การขนส่ง กลุ่มนี้ยังคงเป็นธุรกิจที่เป็นความต้องการของตลาดทั่วไปจึงยังสามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มองว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักคือเรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีผู้เข้าใช้บริการ ส่งผลกระทบต่อผู้ทำธุรกิจโดยตรงจากที่เคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยรวมปีละกว่า 40 ล้านคนกลับมีนักท่องเที่ยวเหลืออยู่เพียงประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ผมอยากยกตัวอย่างให้เห็นถึงภาพของธุรกิจที่มีการเติบโตโดยผมได้สังเกตจากผู้ประกอบการที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่าสิ่งที่มีตลาดและตลาดต้องการคืออะไร
จะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้า โรงผลิตน้ำ รวมถึงโรงผลิตแก๊สธรรมชาติเพื่อการอุตสาหกรรมมีการผลิตเพิ่มมากขึ้นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ทำให้มองเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตได้คือ อุตสาหกรรมที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ให้เข้าสู่สายการผลิตได้ หรือหากมีเกิดขึ้นโรงงานอุตสาหกรรมก็จะมีการบริหารจัดการยับยั้งการแพร่เชื้อนั้นให้ได้เร็วเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายการผลิตเพราะฉะนั้นเรื่องของโควิคจึงไม่ส่งผลกระทบมากในเรื่องของสายการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
การบริหารจัดการรูปแบบนี้มีความใกล้เคียงกับประเทศจีน จะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีตัวเลขการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ที่ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศก็ยังสามารถเติบโตได้
นั่นเป็นเพราะมาตรการควบคุมที่เข้มข้นของประเทศจีน จะเห็นว่า หากมีประชาชนในเมืองใดเมืองหนึ่งติดเชื้อไวรัส COVID-19 ประเทศจีนจะมีการประกาศปิดเมืองโดยทันที เพื่อจัดการสถานการณ์นี้ให้จบโดยเร็วและเปิดเมืองให้คนทำงานได้อย่างปกติ
จีนมีตลาดส่งออกที่ใหญ่มากปีที่ผ่านมาตลาดจีนมีการส่งออกถึง 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้นมากกว่าปีที่ก่อนที่ผ่านมา เพราะประเทศจีนมีสายการผลิตที่เข้มแข็ง และสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
เช่นเดียวกับที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะที่มีการผลิตสินค้าและส่งออกสู่ตลาดโลก ในขณะที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ก็มีความพยายามในการบริหารจัดการให้ดี เพื่อให้เรื่องนี้จบลงได้อย่างรวดเร็วที่สุดด้วยเช่นกัน.