“214 นโยบาย” ชัชชาติ กับ 108 ปัญหาในกทม.

“214 นโยบาย” ชัชชาติ กับ 108 ปัญหาในกทม.

ณ วินาทีนี้ หากไม่พูดถึงผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชนะเลือกตั้ง อย่างถล่มทลายแบบแผ่นดินกระเทือนหรือที่ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า แลนสไลด์ Landslide ก็คงจะเชยน่าดู

มีนักวิเคราะห์หลายท่านพูดถึงปัจจัยที่เอื้อส่งให้ ชัชชาติเข้าวิน อาทิ เช่น ตัวตนที่เป็นคนมีความสามารถ มีการศึกษา มีความมุ่งมั่นและมั่นใจแต่สุภาพถ่อมตัว การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ทัศนคติ วิสัยทัศน์ที่เปิดรับโลกกว้างเข้าใจคนรุ่นใหม่และรักประชาธิปไตย ตลอดจนนโยบาย 214 ข้อ 

ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่น่าจะตอบได้ดีว่าเพราะอะไรถึงให้โอกาสชัชชาติได้เข้ามาบริหารกรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯ เกือบ 1.4 ล้านคนเทคะแนนให้ เรียกได้ว่าชัชชาติชนะทั้งภาพรวมและภาพย่อยรายเขต เป็นชัยชนะที่ใสสะอาด ทิ้งห่างคู่แข่งทั้งหมดอย่างไกล แม้เอาคะแนนคู่แข่งทุกคนมารวมแล้วยังไม่เท่า ถือเป็นฉันทามติประวัติศาสตร์อันดับ 1 ที่คนกทม.มอบให้ผู้ว่า ตั้งแต่เคยมีการเลือกตั้งมา

หากมาวิเคราะห์ที่นโยบายของชัชชาติ จะเห็นได้ว่าเน้นให้คนกรุงเทพฯ มีชีวิตที่มีความปลอดภัย เป็นสุข สุขภาพกายใจดี ทำมาหากินได้ นโยบาย 214 ข้อ นั้นถือเป็นดอกผลของความเข้าใจในปัญหาจากการพูดคุยพบปะผู้คนตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ชัชชาติและทีมงานลงพื้นที่ ไม่ได้มาจากหอคอยงาช้างแต่อย่างใด

เชื่อว่านโยบายที่คนส่วนใหญ่รอคอยเข้ามาแก้ปัญหาในลำดับต้นๆ คือ การจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาพื้นที่ทางเท้า ปัญหามลพิษ ปัญหาการจัดการอำนาจ สัมปทาน และทรัพย์สินของกทมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหลายปัญหาก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งอาจจะแก้ได้ไม่ง่าย แต่ก็สามารถบริหารให้ผลกระทบที่รุนแรงนั้นบรรเทาเบาบางลงได้หากมีการจัดการที่ชาญฉลาด

108 ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่พบแต่ในกทม.เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่พบได้ในเมืองใหญ่ทั่วโลก แก้ได้บ้างไม่ได้บ้างตามความสามารถของผู้บริหารเมืองและประเทศนั้นๆ อาทิ ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในโซลหรือลอนดอน ซึ่งก็แก้ไขโดย บริหารจัดการแม่น้ำ ทางน้ำและอุโมงค์ ทำเขื่อนริมแม่น้ำ เป็นต้น

ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นที่ปักกิ่งและอีกหลายเมืองใหญ่ในจีน ที่รัฐบาลจีนทำเป็นวาระแห่งชาติเข้ามาจัดการโดยใช้ทั้งไม้แข็งไม้อ่อน อาทิ การกำหนดจำนวนรถเข้าเมือง การสนับสนุนพลังงานสะอาดทั้งในครัวเรือน โรงงานและภาคการขนส่ง ซึ่งแต่เดิมพึ่งพาพลังงานถ่านหินอย่างมาก จนถึงกระทั่งการสั่งปิดโรงงานที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้โดยรวมทั้งหมดดูเหมือนเป็นปัญหาที่คลาสสิกยิ่งใหญ่เกินความสามารถของคนคนเดียวในการบริหารจัดการได้ ซึ่งความคิดแบบนั้นก็ไม่ผิดแต่ถือว่าไม่ถูกทั้งหมด จริงอยู่ที่ปัญหาต่างๆ เหล่านี้หลายปัญญาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เกิดขึ้นทับถมกันมานานจนดูเกินเยียวยาแก้ไขและอาจทำให้คนที่ได้รับผลกระทบยอมรับสภาพและคนที่จะเข้ามาแก้ก็ท้อใจ ถูกต้องที่ปัญหาเหล่านี้เกินความสามารถของคนคนเดียว

แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ปัญหาเหล่านี้ล้วนสามารถแก้ไขได้ทั้งสิ้น มีกรณีศึกษามากมายในต่างประเทศที่เค้าลองผิดลองถูกกันมาหมดจนเจอวิธีแก้แล้วทั้งสิ้น ดังนั้นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ดี มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าชนและไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา มีความชาญฉลาดรู้จักใช้เครื่องมือใช้คน เปิดหูเปิดตารับฟังหาต้นตอปัญหา เปรียบเทียบข้อเท็จจริงความสำเร็จและล้มเหลวจากกรณีศึกษา ประกอบกับการเป็นนักประสานที่ดี ทั้งหมดน่าจะเป็นองค์ประกอบรวมที่จะติดอาวุธให้กับผู้ว่าผู้บริหารที่จะเข้ามาจัดการปัญหาเหล่านี้ได้

และที่ขาดไม่ได้คือ ทัศนคติ ที่เห็นใจและเข้าใจในทุกข์ร้อนของประชาชน มีความมุ่งมั่นจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เห็นประชาชนเป็นเด็กอมมือที่สามารถหลอกด้วยนโยบายที่จนแล้วจนรอดก็ไม่เกิดขึ้นจริง ไม่เห็นประชาชนเป็นเบี้ยหมากลูกน้องที่ต้องอดทนอดกลั้นกับการบริหารงานที่ทั้งแย่ทั้งห่วยและยังอยุติธรรมอีก

ที่สำคัญที่สุดคือ เคารพในประชาธิปไตย เคารพหลักนิติรัฐ เคารพในการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายต่าง ๆ