Carbon Accounting โจทย์หินภาคธุรกิจ | ต้องหทัย กุวานนท์

Carbon Accounting โจทย์หินภาคธุรกิจ | ต้องหทัย กุวานนท์

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (ก.ล.ต.) ประกาศว่า จะกำหนดข้อบังคับให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากการรายงานข้อมูลทางการเงินแล้ว ยังต้องรายงานข้อมูลการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก

โดยเป็นข้อมูลการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรในทั้ง 3 ประเภท นั่นคือ

1.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง จากการกระบวนการผลิตหรือกิจกรรมหลักขององค์กร

2.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานภายในองค์กร

3.การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมด้านอื่นๆ เช่น การเดินทางของพนักงาน การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และยังครอบคลุมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในซัพพลายเชนที่เป็นคู่ค้าของบริษัทอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวของ ก.ล.ต. สหรัฐในครั้งนี้ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ตลาดทุนกำลังเดินไปสู่ก้าวสำคัญในการใช้กลไก ที่มีเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

Carbon Accounting หรือการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร ยังถือว่าเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เริ่มตั้งแต่การกำหนดกรอบของข้อมูล การเก็บข้อมูล การคำนวณค่าก๊าซเรือนกระจก และการรายงานข้อมูล

ปัจจุบันการรายงานข้อมูลยังมีข้อโต้เถียงกันอยู่มากเรื่องความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และมาตรฐานที่ยังไม่ดีพอจนทำให้เกิดคำครหาว่ามีการทำข้อมูลขึ้นมาเพื่อฟอกเขียว

ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลในการทำ Carbon Accounting กำลังกลายเป็นเพนพ้อยท์ของบริษัทขนาดใหญ่

เมื่อเดือน ก.พ. บริษัทขนาดใหญ่เช่น Microsoft, KPMG, EY, GSK,WIPRO รวมกลุ่มกันภายใต้แคมเปญ Carboncall.org เพื่อร่วมมือหาวิธีให้การทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกมีมาตรฐานรองรับ

มีการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ และมีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะช่วยให้กระบวนการทำงานทั้งหมดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์องค์กรอย่าง Salesforce ก็กำลังจับมือกับ Accenture เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยให้การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกมีระบบที่ถูกต้องแม่นยำ รวดเร็วและเรียลไทม์

Carbon Accounting โจทย์หินภาคธุรกิจ | ต้องหทัย กุวานนท์

บริษัทที่ให้บริการทางบัญชี 4 รายใหญ่ของโลก หรือ Big 4 อย่าง Deloitte, KPMG, EY, และ PwC ต่างกำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อแย่งเค้กชิ้นโตในธุรกิจอนาคต “Carbon Accounting”

คำกล่าวที่ว่า “อะไรก็ตามที่วัดผลไม่ได้ ก็ไม่มีทางบริหารจัดการได้” คือหัวใจของการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน การเดินไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2050 ขึ้นอยู่กับว่า เราจะบริหารจัดการ ติดตาม และวัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีแค่ไหน และสิ่งนี้กำลังทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของการลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ Carbon Accounting

ข้อมูลจาก Pitchbook ระบุว่า เม็ดเงินลงทุนจาก VC กำลังไหลเข้าสตาร์ทอัพกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่า และในปีนี้เพียงแค่ไตรมาสเดียวก็มีเงินลงทุนถึงกว่า 70 ล้านดอลลาร์

ล่าสุดที่สิงคโปร์ สตาร์ทอัพ Unravel Carbon ที่พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยองค์กรในการติดตามและรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถระดมทุนในระดับ Seed round ได้ถึง 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับสตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งมาเพียงแค่หนึ่งปี!

Climate software กำลังเป็นเซคเตอร์ที่มาแรงที่สุดของปีนี้ แน่นอนว่า Pain อยู่ที่ไหน โอกาสมักจะอยู่ที่นั่นเสมอ อนาคตการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และนี่คือโอกาสที่สายเทคต้องรีบไขว่คว้า.

Carbon Accounting โจทย์หินภาคธุรกิจ | ต้องหทัย กุวานนท์

คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม