‘ลดคาร์บอน’ รับกติกาโลกเปลี่ยน
"วิกฤติสภาพอากาศ" เป็นเรื่องสำคัญของทั่วโลก หลายประเทศยังล้มเหลวในการควบคุมมาตรการต่างๆ รวมถึงประชาชนก็ไม่ได้รู้สึกว่าน่ากลัว ประเทศไทยเองต้องพร้อมรับมือกติกาโลกในประเด็นนี้เช่นกัน
วิกฤติสภาพอากาศที่โลกกำลังเผชิญ เป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องสำคัญ ต่อการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนโลกต่อจากนี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ อากาศที่ร้อนจัด ขั้วโลกอุณหภูมิสูงขึ้นจนน้ำแข็งละลาย ฝนตกหนัก ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยขึ้น กระทบต่อสุขภาพและความมั่นคงด้านอาหาร คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี เคยคาดการณ์ว่า โลกร้อนจะทำให้ผู้คนกว่า 183 ล้านคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ อดอยากขาดสารอาหารภายในปี 2593
แม้วันนี้ทั่วโลกพยายามรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนให้มาก ถึงขนาดให้องค์กรต้องใส่พันธกิจช่วยลดโลกร้อนอยู่ในยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ แต่หลายประเทศก็ยัง “ล้มเหลว” ในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แม้แต่พวกเราทุกคน ก็ยังเพิกเฉย ใส่ใจ เรื่องนี้กันน้อยเกินไป ส่งผลให้ภูมิอากาศวันนี้อยู่ในระดับวิกฤติ โลกเต็มไปด้วยมลพิษ ขยะ และของเสียที่ส่งผลต่อสุขภาพการใช้ชีวิตของคน
งานสัมมนา “ZERO CARBON การค้าสู่ความยั่งยืนในเวทีโลก" ของ “ฐานเศรษฐกิจ” มีมุมมองต่อการร่วมมือเพื่อลดวิกฤติสภาพอากาศ เพื่อทำให้โลกสะอาดขึ้น และถือเป็นวาระเร่งด่วนที่เกี่ยวพันกับโลกการค้ายุคใหม่ ที่ต้องให้ความสำคัญ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาให้มุมมองว่า ต่อไป เงื่อนไขการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกฎกติกาควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประกาศแผนการปฏิรูปสีเขียว และมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้เกิดกลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน
ประเทศที่ทำการค้า ส่งออกสินค้า ไปยังสหภาพยุโรปต้องผ่านกฎข้อนี้ ขณะที่ อียูประกาศว่า อีก 4 ปี หรือ ปี 2026 ข้างหน้า จะมีการเก็บภาษีคาร์บอน อย่างน้อย 5 รายการ ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย และบริการไฟฟ้า ไทยส่งออกเหล็กไปยุโรปถึง 68% ส่งออกอะลูมิเนียม 32% ในยุโรป นอกจากนี้ในอนาคตยุโรป จะมีการเก็บเพิ่มอีก 2-3 ชนิด เช่นเดียวกับตลาดการค้าขนาดใหญ่ของไทย อย่างสหรัฐ ก็จะเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงในการผลิตด้วยเช่นกัน
ประเทศไทย ประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ ซีโร่คาร์บอน ปี 2065 ซึ่งถือว่าประเทศไทย อยู่ในกลุ่มกลางๆ ในการประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ยังไม่ช้าเกินไป แต่เราคงต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมาย แน่นอนว่า ไทยต้องเตรียมพร้อมรับการปรับเปลี่ยนกฎกติกาโลกนับจากนี้ ซึ่งจะกลายเป็นกติกาการค้าโลกใหม่ที่ระบบเศรษฐกิจไทยต้องรับมือ