เมื่อเงินชราภาพประกันสังคม สามารถขอคืน/กู้ได้แล้ว

เมื่อเงินชราภาพประกันสังคม สามารถขอคืน/กู้ได้แล้ว

ผ่านมาครึ่งปีแล้วนะครับสำหรับปี 2565 นี้ ผู้อ่านเป็นอย่างไรกันบ้างแล้วครับ ช่วงนี้ประเทศเปิดให้เดินทางกันมากขึ้นแล้ว ท่านผู้อ่านได้แพลนไปท่องเที่ยวที่ไหนกันบ้างหรือยังครับ และหลายๆบริษัทก็เริ่มกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันแล้ว แต่ก็ยังมีบางบริษัทยังคงติดใจการทำงานแบบ WFH กันอยู่ใช่มั้ยครับ

     ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีกิจกรรมเกิดขึ้นหลายอย่างเลย ทั้งเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ตลาดหุ้นที่มีการปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และอีกหนึ่งข่าวที่เกิดขึ้นจากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … โดย เป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมในส่วนของ การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ 

     ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน อายุ 55 ปี ได้ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่า “สิทธิประโยชน์ 3 ขอ” ให้ท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจกันครับ

     ขอแรก “ขอเลือก” สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาข้อนี้ จะเป็นการอนุญาตให้ผู้ประกันตน สามารถเลือกได้ว่าจะขอรับเงินจากกองทุนชราภาพ ในรูปของบำเหน็จหรือบำนาญ จากเดิมที่เมื่อ ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบมาครบ 180 เดือนแล้ว ทางประกันสังคม จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกันตนในรูปแบบของบำนาญ เท่านั้น ซึ่งข้อดี ของ “ขอเลือก” นั้นจะช่วยให้ ผู้รับเงินชราภาพประกันสังคม สามารถเลือกวิธีรับเงินที่เหมาะกับตัวเองได้ 

     อย่างกรณีที่ต้องใช้เงินก้อนในวันเกษียณ เช่น ค่าซ่อมแซมบ้าน ชำระหนี้สิน ก็สามรถนำเงินก้อนนี้มาใช้ได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม “ขอเลือก” ก็อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างก็คือผู้ประกันตนอาจจะเลือกรับเงินบำเหน็จออกมาใช้จนเสียหมด ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อตัวผู้ประกันตนเมื่ออายุมากขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตอยู่ว่า

 

    อาจจะมีผู้ประกันตนเป็นจำนวนมากเลือกที่จะรับเงินชราภาพออกมาในรูปของบำเหน็จเป็นจำนวนมาก และอาจจะส่งผลกระทบต่อ มูลค่าของกองทุนชราภาพ ประกันสังคมได้ และ ในร่าง พรบ. ยังไม่มีการชี้แจงเกี่ยวกับ กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญไปแล้ว จะสามารถเปลี่ยนกลับมารับเป็นเงินบำเหน็จได้หรือไม่

      ขอที่สอง “ขอกู้” สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาในลำดับถัดมาก็คือ การอนุญาตให้ผู้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วน เป็นหลักประกันกู้เงินกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมได้ โดยผู้ประกันตนจะสามารถกู้ออกมาใช้ก่อนได้ ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินชราภาพที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับ หรือไม่เกิน 2 เท่าของค่าจ้างสูงสุดที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ หรือสูงสุดได้ไม่เกิน 30,000 บาท นั่นเอง โดยข้อดี ของ “ขอกู้” นั้นจะเข้าไปช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกันตน

      โดยผู้ประกันตนสามารถใช้เงินกองทุนชราภาพ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอกู้ได้เลย ทำให้ไม่ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม “ขอกู้” ก็ยังมีข้อเสียอยู่ที่ สามารถ กู้ได้สูงสุดแค่ 2 เท่าของค่าจ้างสูงสุดที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ หรือไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน ซึ่งอาจจะดูน้อยเกินไป

    ทั้งนี้ในปัจจุบัน ก็สามารถกู้ผ่านธนาคารออมสินได้สูงสุด 10,000 บาทโดยไม่ต้องใช้ สินทรัพย์ค้ำประกัน และการปล่อยให้กู้ได้ง่าย อาจจะก่อให้หนี้ที่ไม่จำเป็นเป็นจำนวนมากได้ และในส่วนของข้อสังเกตนั้น จะเห็นได้ว่า ใน ร่าง พรบ. ไม่มีการกล่าวถึงในมุมของนายจ้างว่าจะสามารถกู้เงินจากกองทุนประกันสังคมได้ด้วยหรือไม่

      ขอสุดท้าย “ขอคืน” หลังจากที่ถูกร้องเรียนโดยผู้ประกันตนโดย ขอให้ทางประกันสังคมคืนเงินให้แก่ผู้ประกันตนที่จ่ายไป มาใช้ก่อนในช่วงวิกฤติ วันนี้ทาง ประกันสังคมได้มีความเห็นชอบเพิ่มเติมในส่วนของสิทธิประโยชน์นี้แล้ว โดย การขอคืนนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดีจะสามารถขอคืนได้เลย แต่จะขอได้เป็นกรณีพิเศษเช่น ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใด อันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน จึงจะสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนดอายุ 55 ปีบริบูรณ์ได้ 

    ซึ่ง ข้อดีของ “ขอคืน” คือเป็นการ ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกันตน ทำให้ไม่ต้องไปสร้างหนี้สิน หรือต้องกู้เงินนอกระบบ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤติไปได้ อย่างไรก็ตามข้อเสียของ “ขอคืน” ก็คงจะเป็นเรื่องที่ทำให้เงินที่จะได้รับจาก กองทุนชราภาพในวันเกษียณน้อยลง อาจทำให้เกิดปัญหามีเงินไม่พอในวัยเกษียณได้ ทั้งนี้สำหรับ “ขอคืน” มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าจะต้องรอวิกฤติถึงจะขอได้ และยังไม่ทราบว่าจะมีเงื่อนไขอะไรอีกไหม และหาก เป็นวิกฤต เฉพาะพื้นที่หรือบุคคล จะสามารถขอคืนได้ไหม เช่นกรณีเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ เป็นต้น

     จะเห็นได้ว่า “3 ขอ” ที่กล่าวมานั้นยังมีอีกหลายประเด็นที่ ทางประกันสังคมต้องนำกลับไปทำเป็นการบ้านเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ที่ดีขึ้นสำหรับผู้ประกันตน ที่ถูกบังคับให้จ่ายเงินอยู่ทุกเดือน และ ทางฝั่งนายจ้างก็สำคัญไม่แพ้กัน

      สำหรับ ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ ตัว พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว จะถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจสอบรายละเอียด ก่อนจะส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปครับ