Utility Token แบบไหนถึงพร้อมใช้? | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล Utility Token ไม่พร้อมใช้ (ถึง 29 มิ.ย.2565) ผู้เขียนจึงถือโอกาสอธิบายลักษณะและการกำกับดูแลในปัจจุบันที่มีต่อ Utility Token ประเภทดังกล่าว
- การพัฒนาของสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการออกเหรียญประเภทต่างๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทั้งที่มีลักษณะคล้ายกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบ traditional และประเภทที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วยในการ tokenize เช่น Meme Token, Fan Token, NFT และ Utility พร้อมใช้ เป็นต้น
ด้วย Smart Contract ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการสร้างเหรียญแบบใหม่ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาแบบ open source หรือแบบไร้ตัวกลาง จึงพบว่าการให้บริการในโลกดิจิทัลที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก อาทิเช่น การให้บริการ Leverage เพื่อการลงทุน หรือการให้บริการผ่าน Defi Platform เป็นต้น
ดังนั้น ด้วยระบบนิเวศที่อำนวยต่อการสร้างเหรียญเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการทำกิจกรรมในโลกดิจิทัล ย่อมส่งผลต่อจำนวนผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ทั้งจากฝั่งผู้ประกอบการ (ที่อาจเป็น Startup หรือบริษัทเทคโนโลยี) และผู้ซื้อขายที่เข้ามาทดลองใช้บริการในโลกดิจิทัล
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากกฎหมายหรือเกณฑ์การกำกับดูแลในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า “ไม่ใช่เหรียญ หรือโทเคนดิจิทัลทุกประเภทที่จะอยู่ภายใต้กำกับ”
- อะไรบ้างที่อยู่ภายใต้การกำกับ
พิจารณาตามหลักการของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล พบว่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้แก่
1) คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งหมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า/บริการ โดยกฎหมายปัจจุบันจะกำกับเฉพาะตัวกลางเท่านั้น (เช่น exchange, broker, dealer)
2) โทเคนดิจิทัล ที่มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกเพื่อกำหนดสิทธิในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ
- Investment token ที่สร้างขึ้นเพื่อบันทึกและกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน และ
- Utility Token ที่สร้างขึ้นเพื่อบันทึกและกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ โดย Utility Token นี้เอง ที่ถูกแบ่งออกเป็น “แบบไม่พร้อมใช้” และ “พร้อมใช้”
ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน การเสนอขาย Investment Token และ Utility Token แบบไม่พร้อมใช้เท่านั้น ที่ต้องขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยต้องมีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด ประกอบกับตัวกลางที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ผู้ให้บริการระบบเสนอขาย หรือ ICO portal ย่อมอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับเช่นเดียวกัน
- ลักษณะของ Utility Token พร้อมใช้
คำว่า “ไม่พร้อมใช้” กับ “พร้อมใช้” สร้างความสับสนให้ผู้ศึกษากฎหมายฉบับนี้อยู่ไม่น้อย โดยผู้เขียนขออธิบาย โดยยกตัวอย่างประกอบ ดังนี้
1) แบบไม่พร้อมใช้ คือ โทเคนประเภทที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์จากสินค้าหรือบริการไว้ในอนาคต โดยผู้ถือครองจะยังไม่สามารถใช้ หรือได้ประโยชน์ตามที่ผู้เสนอขายเสนอได้กำหนดไว้ในวันที่เสนอขายครั้งแรกได้ เช่น ผู้เสนอขายได้เสนอให้ผู้ซื้อเหรียญได้สิทธิในการได้รับของที่ระลึกหรือส่วนลดต่างๆ
อย่างไรก็ดี ในวันที่ได้ทำการซื้อเหรียญ โครงการดังกล่าวอาจยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่ได้เริ่มทำ ส่งผลให้ของที่ระลึกจะยังไม่ได้มา และส่วนลดที่ว่านั้นจะยังไม่สามารถใช้ได้จริงในทันที ทั้งนี้ ต้องรอให้โครงการของผู้เสนอขายแล้วเสร็จตามที่กำหนดเสียก่อน ผู้ซื้อจึงจะสามารถได้สิทธิในการได้รับของที่ระลึกหรือส่วนลดนั้น
2) แบบพร้อมใช้ คือ โทเคนประเภทที่มีการกำหนดสิทธิผูกติดไว้กับเหรียญในลักษณะที่สามารถนำไปแลกสินค้า/บริการได้ทันที หรือให้ประโยชน์ผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ออกเสนอขายในครั้งแรก โดยหากเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จะคล้ายกับการซื้อคูปองเงินสดที่ศูนย์อาหารและใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องรอศูนย์อาหารดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แล้วเสร็จ
หรือกรณีได้รับ Gift Voucher ของห้างสรรพสินค้า ก็สามารถนำไปซื้อของแทนเงินสดในห้างได้ทันที หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ถือครองเหรียญประเภทพร้อมใช้นี้ “ไม่ต้องรอให้ผู้ออกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้แล้วเสร็จก่อน ส่งผลให้เหรียญมีสภาพพร้อมใช้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ใดในอนาคต”
ดังนั้น ที่ผ่านมา การออก Utility Token แบบพร้อมใช้ กฎหมายจึงกำหนดยกเว้น “ไม่ต้องขออนุญาตในการเสนอขาย” เพราะโดยสภาพแล้ว มีความสมบูรณ์ในตัวเอง พร้อมใช้งาน และมีลักษณะคล้ายกับ finished product มากกว่าเป็น Financial Product ประกอบกับโทเคนแบบพร้อมใช้บางประเภทราคาอาจผันผวนตามกระแสในโลกโซเชียล
หรือความชื่นชอบของปัจเจกชนมากกว่าปัจจัยของกลไกตลาดที่แท้จริง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการเสนอขายสินค้าหรือบริการทางการเงินอื่นๆ ในเชิงเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา แม้การเสนอขายโทเคนประเภทพร้อมใช้จะไม่ได้ถูกกำกับภายใต้กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ในมุมกฎหมาย หากมีกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือฉ้อโกง ย่อมเป็นไปตามหลักการของกฎหมายแพ่ง อาญา หรือกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้
- ประเด็นท้าทาย
ในโลกดิจิทัล เทคโนโลยีสามารถช่วยกำหนดสิทธิของ “ทรัพย์” ประเภทต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบเหรียญดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดคำถามในทางกฎหมายถึงความจำเป็นในการกำกับดูแล เนื่องจากที่ผ่านมา การออก Utility Token พร้อมใช้ มักเกิดขึ้นกับสินค้าหรือบริการที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และมักเกิดขึ้นในวงจำกัด
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ความต้องการในการแปลงและกำหนดสิทธิคูปอง บัตรสะสม และบัตรเข้าชมเข้างานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลมีมากขึ้น จึงนำมาซึ่งประเด็นท้าทายถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายในปัจจุบัน
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าวัตถุประสงค์ในการออกเหรียญลักษณะ (Characteristics) ตลอดจนการใช้งานของเหรียญ อาจเป็นจุดแบ่งที่สำคัญในการแยกแยะเหรียญทั้งสองประเภท หากเหรียญประเภทใดมีลักษณะของการระดมทุน
แม้จะเรียกตัวเองว่า “พร้อมใช้” ก็ไม่ควรอยู่ภายใต้นิยามของ Utility Token พร้อมใช้ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์เดียวกับโทเคนประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะอย่างเดียวกันเพื่อป้องกันการกำกับดูแลที่แตกต่าง
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล Utility Token ไม่พร้อมใช้ ได้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. ถึง 29 มิ.ย.นี้