แนวคิด Green FinTech ของสิงคโปร์ | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

แนวคิด Green FinTech ของสิงคโปร์ | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

เรื่องราวน่าสนใจของสิงคโปร์ที่พัฒนา “เทคโนโลยี” ควบคู่ไปกับการสร้าง “ความยั่งยืน” ให้กับการให้บริการทางการเงินผ่านแนวคิด Green Finance ที่ MAS ผลักดันให้สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มภายใต้ Project Greenprint จะเริ่มใช้ในครึ่งหลังปีนี้

ที่มาของ Green FinTech
    สิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งใน FinTech hubs ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และได้มีการพัฒนานวัตกรรมการเงินอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา โดยแนวคิดเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ผ่านโครงการ Green Finance Action Plan ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเพิ่มความยืดหยุ่นและพัฒนาตลาดการเงินเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

    จาก Green Finance ถึง Green FinTech
Green FinTech มีรากฐานมาจากแนวคิดเรื่อง Green Finance หรือ การเงินสีเขียว คือ การส่งเสริมภาคการเงินให้เข้าสู่โครงการที่ส่งเสริม หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตัวอย่างโครงการของสิงคโปร์ภายใต้แนวคิดดังกล่าว 
 

เช่น โครงการ Green Bond หรือ การออกพันธบัตรที่ประกันกับนักลงทุนในการนำเงินเข้าสู่โครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (หรือเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม) และโครงการ Enterprise Sustainability Program (ESP) ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งแผนสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

         อย่างไรก็ดี เมื่อโลกการเงินใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนมากขึ้น ผู้ให้บริการทางการเงินได้พัฒนาแนวคิดสีเขียวผ่านโลกออนไลน์

เช่น ในจีน โครงการ Ant Forest ที่ให้บริการบนแอปพลิเคชันของ Alipay ให้ผู้ใช้บริการบันทึกกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่มีผลต่อการลดมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ลดการใช้กระดาษโดยการจ่ายบิลออนไลน์ ลดการใช้พลังงานโดยการปั่นจักรยานไปทำงาน 

เมื่อกิจกรรมดังกล่าวทำอย่างต่อเนื่อง ผู้บันทึกจะได้คะแนนสะสมในรูปแบบ Green points และเมื่อสะสมได้ตามยอดที่กำหนด Alipay จะให้ต้นไม้ทั้งในรูปแบบเสมือนในแอปพลิเคชัน และต้นไม้จริงจะถูกปลูกในป่าชุมชมจำนวนหนึ่งต้นเท่ากัน โดยผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้แบบ real-time ผ่านระบบดาวเทียม

โครงการ Project Greenprint  
    ล่าสุด ภายใต้โครงการ Project Greenprint ของสิงคโปร์ ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เทคโนโลยีในการสร้างระบบนิเวศด้านการเงินที่มีธรรมาภิบาลที่ดี มีการบริหารงานโปรงใส่ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

รูปแบบสำคัญของโครงการ คือ การร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งในภาคการเงิน และภาคอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีผ่านการระบบจัดการข้อมูลร่วมกัน โดย MAS  (the Monetary Authority of Singapore) ได้ออกแบบ “แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูล” ที่ทำงานแบบข้ามเซ็กเตอร์ (Multiple sectoral platforms) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาร่วมกันของผู้ประกอบการในแขนงต่างๆ

แนวคิด Green FinTech ของสิงคโปร์ | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์  

รูปแบบ Greenprint Platform
ภายใต้โครงการดังกล่าว MAS ได้วางแผนในการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มในสี่รูปแบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยทั้งสี่แพลตฟอร์ม ได้แก่

1) Common Disclosure Portal คือ แพลตฟอร์มสำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG (Environment, Social and Governance) ซึ่งเป็นข้อมูลด้านนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัทที่ใช้ในการสร้างความยั่งยืนและส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดี (ซึ่งเป็นข้อมูลในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการบริหารขององค์กร) 

แพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสามารถใช้แพลตฟอร์มเพื่อการตรวจสอบและบริการจัดการ ESG ของตนเองได้ 

แนวคิด Green FinTech ของสิงคโปร์ | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

2) ESG Registry คือ แพลตฟอร์มที่สร้างโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะทำหน้าที่บันทึก เก็บรักษาและตรวจสอบข้อมูลและใบรับรองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อสร้างข้อมูลที่หน้าเชื่อถือและเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง (real economy sectors)

3) Data Orchestrator คือ แพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืน (Sustainability data) ทั้งจาก Common disclosure portal และ ESG registry รวมถึงข้อมูลในลักษณะ open data ที่อาจได้จากข้อมูลดาวเทียมหรือข้อมูลทางธรรมชาติ โดยแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่พัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเพื่อประโยชน์ต่อการสนับสนุนด้านการลงทุนและการตัดสินใจลงทุน 

4) Greenprint Marketplace คือ เป็นแพลตฟอร์มเปิด เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology provider) กับสถาบันการเงิน นักลงทุน บริษัทที่มุ่งพัฒนาธุรกิจสีเขียว ผู้ให้บริการ ESG และบริษัทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ภายใต้วัตถุประสงค์ในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และเพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืนในสิงคโปร์

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าแนวคิดในการนำ FinTech มาใช้กับประเด็นในเรื่องการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูล ESG เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และในยุคที่ข้อมูลหากถูกจัดการอย่างเหมาะสมภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย และสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลนั้นจะมีค่ามหาศาลกับทั้งธุรกิจและภาครัฐ.

แนวคิด Green FinTech ของสิงคโปร์ | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

คอลัมน์ Legal Vision:นิติทัศน์ 4.0 
สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กระทรวงการคลัง