FinTech 2564 บทเรียนจาก Ant

จับตาจุดเปลี่ยนการขับเคลื่อน FinTech ปี 2564 ถอดบทเรียนฝั่งจีนอย่าง Ant Group ที่ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของอีคอมเมิร์ซแบบรวมศูนย์ ที่รวมกิจการหลายประเภทอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเอง ต่างจากฝั่งยุโรปและสหรัฐที่เน้นธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวอย่างชัดเจน

ในปีที่ผ่านมา แม้การระบาดของโควิดจะส่งผลให้เกิดวิกฤติไปทั่วโลก แต่ในอีกด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเกิดหลายเหตุการณ์สำคัญที่จะเป็นทั้งบทเรียนและข้อคิดในการกำกับดูแล ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนในการขับเคลื่อน FinTech ในปี 2564 นี้

  • จุดเริ่มที่แตกต่าง : เมื่อ West เรียนรู้จาก East

กล่าวคือหากพิจารณารูปแบบการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีในฝั่งยุโรปและสหรัฐ สังเกตได้ว่าเดิมทีการทำธุรกิจจะอยู่ในลักษณะ Silos คือบริษัทจะประกอบธุรกิจหลักเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจน (แม้ว่าในปัจจุบันอาจประกอบธุรกิจที่หลากหลายขึ้น) เช่น ธุรกิจหลักของ Amazon คือ อีคอมเมิร์ซ, ของ Facebook คือ โซเชียลมีเดีย และ ของวีซ่า/มาสเตอร์ คือ ระบบชำระเงิน เป็นต้น

ในทางกลับกัน ธุรกิจในจีนอย่าง Alibaba หรือ Tencent มีรูปแบบการประกอบธุรกิจแบบ “รวมศูนย์” คือรวมกิจการหลายประเภทอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลของตนเอง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นอันแข็งแกร่งของ Ant Group ที่ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของอีคอมเมิร์ซให้เป็นได้ทั้งร้านค้าออนไลน์ ระบบชำระเงิน เกมออนไลน์ การส่งข้อความหากันไม่ว่าจะในรูปแบบข้อความ วีดิโอคอล หรือ live-streaming

  • เมื่อ Ant กำลังจะได้ออก IPO

ดังนั้น เมื่อ Alibaba มีทุกอย่างครบจบอยู่บนแพลตฟอร์ม และ Ant เป็นช่องทางหลักในการให้บริการทางการเงิน จึงไม่น่าแปลกใจว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Ant มากกว่าพันล้านบัญชี ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นที่มาของการประกาศขายไอพีโอที่มีมูลค่าสูงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในช่วงไตรมาส 4 (Q4) ของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ทุกอย่างเหมือนกำลังจะไปได้ดี แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นตามคาด เมื่อรัฐบาลจีนประกาศห้าม Ant ขายไอพีโอ พร้อมทั้งปรับเกณฑ์กฎหมายผูกขาดทางการค้า (Antitrust Law) และกฎหมายทางการเงินใหม่โดยอ้างเหตุผลในเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน (Financial Stability)

  • เมื่อ Ant โดยเบรก : จากกฎหมายผูกขาดทางการค้าฉบับใหม่

เหตุผลแรกที่รัฐบาลจีนใช้เบรก Ant IPO คือ ประเด็นในเรื่องการผูกขาดทางการค้า ซึ่งสำหรับจีนนี่ถือเป็นครั้งแรกในการนิยาม “Anti-Competitive behavior” หรือ “พฤติกรรมจำกัดการแข่งขัน” สำหรับภาคเทคโนโลยี โดยหากพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบแล้ว พบว่าที่ผ่านมาระบบนิเวศที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนได้สร้างขึ้นนั้น มีลักษณะ “แบบวงจำกัด” ส่งผลให้การชำระเงินข้ามแพลตฟอร์มอาจไม่สามารถทำได้ เช่น ผู้ใช้บริการที่ใช้ระบบชำระเงินของ WeChat Pay (ในเครือ Tencent) จะไม่สามารถซื้อของและชำระเงินด้วย WeChat Pay บนร้านค้าออนไลน์ของ Taobao (ในเครือ Alibaba) ได้

ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้คือหนึ่งในปัญหาที่ทางการจีนมองว่าเป็นการผูกขาดทางการค้าประเภทหนึ่ง และโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ระบบชำระเงินของแพลตฟอร์มเจ้าหนึ่งสามารถชำระราคาบนแพลตฟอร์มอีกเจ้าที่เป็นคู่แข่งกันได้ เหล่านี้คือที่มาของกฎเกณฑ์การกำกับตลาด หรือ Market Regulation ฉบับใหม่ ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้าของบริษัทเทคโนโลยี และได้ส่งผ่านไปถึง Ant Group ในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงก่อนการประกาศขาย IPO

  • เมื่อ Ant โดนเบรก : ทำลายเสถียรภาพทางการเงิน?

ประเด็นที่สองที่ทางการจีนได้กล่าวถึง คือธุรกิจของ Ant อาจทำลายเสถียรภาพของระบบการเงินในจีนได้ ซึ่งหากเริ่มต้นที่ขนาด เมื่อนับรวมมูลค่า Ant Group และ Tencent เข้าด้วยกัน พบว่ามีมูลค่าตลาดกว่า Bank of China และหากพิจารณาในด้านการให้บริการ บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำธุรกรรมที่หลากหลายและอาจมากกว่าธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่ถูกทางการจับตามองเป็นพิเศษในครั้งนี้คือ “การปล่อยสินเชื่อรายย่อย” ซึ่งธุรกิจที่ Ant ทำมีลักษณะเป็นตัวกลางในการให้กู้ยืมออนไลน์ โดยเงินส่วนใหญ่ที่ใช้ในการปล่อยกู้เป็นของธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น โดยเป็นเงินของ Ant เองแค่ 2% (หรือสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Capital Adequacy Ratio แค่ 2%) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า Ant ทำหน้าที่ไม่ต่างจากนายหน้าในการหาลูกค้าให้กับแหล่งเงินอื่น

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงนี้ จึงเป็นที่มาของการปรับเกณฑ์ในการให้ Ant ต้องเป็นแหล่งเงินกู้เองอย่างน้อย 30% เพื่อลดปริมาณการปล่อยสินเชื่อรายย่อยแบบออนไลน์ในจีนที่ทางการมองว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้น ด้วยเหตุผลข้างต้น ธนาคารกลางจีนจึงได้ประกาศให้ Ant “กลับไปประกอบธุรกิจระบบชำระเงินอย่างเดิม” และ “ต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจทางการเงินอื่น” ให้เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินและสอดคล้องกับนโยบายการแข่งขันที่เป็นธรรม

  • จุดสมดุลของการกำกับที่เหมาะสม

สำหรับผู้เขียน ได้ตั้งคำถามว่าอะไรคือการกำกับที่เหมาะสม? หากพิจารณาจากมุมมองของทางการจีน หนึ่งในประเด็นที่กังวล คงไม่พ้นประเด็น “Too big to fail” ตามหลักทฤษฎีที่ว่าบริษัทเทคโนโลยีในจีนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และมีความเชื่อมโยงต่อหลายส่วนของระบบเศรษฐกิจ จนไม่สามารถปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ล้มหรือสร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจได้

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวิกฤติ Subprime ในสหรัฐเมื่อปี 2543 จะเห็นว่าการทำ MBS (ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง) หรือ CDOs (แปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์) ในยุคนั้นได้ก่อให้เกิดวิกฤติในภาคอสังหาฯ จนลามสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคอสังหาฯ

ในเชิงเปรียบเทียบ การปล่อยสินเชื่อของแพลตฟอร์มในจีนส่วนมากเป็นสินเชื่อรายย่อย ที่ผู้ขอสินเชื่อครอบคลุมอยู่ในหลากหลายเซคเตอร์ ซึ่งหากเกิดหนี้เสียจำนวนมาก หรือแพลตฟอร์มมีการดำเนินธุรกิจที่ผิดพลาดจะสามารถลามเข้าสู่ระบบธนาคาร และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้โดยง่ายและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่อาจเป็นอีกประเด็นในเรื่องเสถียรภาพทางการเงินที่ทางการจีนเป็นกังวลในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญวิกฤติ

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน การกำกับที่เข้มงวดเกินไปก็อาจส่งผลต่อการพัฒนาของเทคโนโลยี และเป็นการลดโอกาสการเติบโตของ FinTech Firms ซึ่งในอีกด้านก็อาจเป็นการจำกัดการแข่งขันให้มีแต่ผู้เล่นเดิมที่อยู่ในตลาด และยังอาจเป็นการจำกัดการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนที่เข้าไม่ถึงการให้บริการของสถาบันการเงินในปัจจุบัน

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าบทเรียนจาก Ant ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญส่งท้ายปี 2563 ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปี 2564 และสำหรับ Regulators นี่คือเหตุที่ชวนให้คิดว่าการกำกับดูแลในปัจจุบันและที่วางแผนในอนาคตพบจุดสมดุลที่เหมาะสมเพื่อพร้อมรับกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในอนาคตหรือยัง?

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)