จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

๙๐ ปีที่แล้ว ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เข้าใจว่าถ้าไทยมีรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว เราจะมีประชาธิปไตยที่จะช่วยให้คนส่วนใหญมีสิทธิมีเสียง ที่จะทำให้สังคมไทยเจริญ เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 

นั่นเป็นเเพียงความเข้าใจที่ถูกเพียงบางส่วน ประชาธิปไตยแบบผู้แทนเป็นเพียงประชาธิปไตยส่วนเดียว จะเรียกว่าประชาธิปไตยแบบนายทุนก็ได้

เพราะในระบบนี้คนที่มีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ส.และไปจัดตั้งรัฐบาลมักเป็นตัวแทนของนายทุนและชนชั้นกลางที่เชื่อและได้ประโยชนจากระบบทุนนิยม (เน้นกรรมสิทธิและการหากำไรของเอกชน) 

ประชาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยคนส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่นัั้น  ไม่ใช่แค่เรื่องเลือกตั้ง ส.ส. แต่ต้องรวมถึง การเลือกตั้งผู้บริหารและสภาองค์กรบริหารท้องถิ่นตั้งแต่ระดับจังหวัด ลงมาถึงตำบล หมู่บ้าน ที่มีอำนาจเต็มในการจัดการทรัพยากร กำลังคนและเรื่องต่างๆ ไม่ใช่แค่เป็นองค์กรดูแลเรื่องสาธารณูปโภคอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทยจากส่วนกลางอย่างที่เป็นอยู่ 

ประชาธิปไตยที่แท้ต้องรวมถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม นั่นคือ ประชาชนควรมีสิทธิ เสรีภาพความเสมอภาค (ทางโอกาส) ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น เรื่องการมีงาน/อาชีพ่ที่ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีอย่างพอเพียง ได้รับการศึกษา บริการทางสาธารณสุข และบริการทางสังคมอื่นๆ ที่มีคุณภาพ อย่างเป็นธรรม

การจะสร้างประชาธิปไตยได้ต้องเริ่มสร้างทั้งในครอบครัว, สถานศึกษาที่พ่อแม่ ครู ต้องมีจิตใจกว้าง เคารพสิทธิเด็ก ส่งเสริมให้เด็กเข้าใจเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ เคารพสิทธิของคนอื่น และเข้าใจว่าการเคารพประโยชน์ของส่วนรวมนั้น แท้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนด้วย

 ในที่ทำงาน ทั้งในระบบราชการ ธุรกิจเอกชน หรือองค์กรแบบสังคมประชา (มูลนิธิ สมาคม องค์กรไม่หากำไรแบบต่าง ๆ) ควรส่งเสริมการบริหารงานแบบใหม่ที่ให้พนักงานมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย ส่งเสริมให้พนักงานจัดตั้งสหภาพแรงงานสมาคม สหกรณ์ออมทรัพย์

และให้พนักงานมีตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการนโยบายและบริหารของบริษัทและองค์กรต่าง ๆ มีการประชุม เปิดช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร พร้อมที่จะคิด ริเริ่มเสนอแนะ และทำงานพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เจริญก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
 
ในชุมชน ควรส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์ประเภทต่างๆ สมาคมอาชีพ สภาชุมชนขนาดเล็กระดับหมู่บ้านหรือกลุ่มบ้านที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมถกปัญหาและลงมติได้ และเลือกคณะกรรมการโครงการต่างๆ ไปทำงานที่ได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐ (แบบสภาชุมชนของประเทศเวเนซุเอลา) จะทำให้ประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นในภาคปฏิบัติได้ดีขึ้น 

จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

ในทางเศรษฐกิจควรสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเพื่อส่วนรวม เช่น ป่าชุมชน โฉนดชุมชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือก และการพัฒนาทางเลือกด้านต่าง ๆ ที่เน้นความสมดุล ความเป็นธรรม การลดการทำลายสิ่งแวดล้อม

ในด้านการเมืองการปกครองระดับท้องถิ่น ควรปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งและการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหาร องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับตำบลและจังหวัด

เช่น จัดให้มีการประชุมใหญ่ที่เปิดให้คนทั้งชุมชนเข้ามาร่วมประชุมได้ทุก 3-6 เดือน เพื่อถกเถียงเรื่องโครงการพัฒนาและงบประมาณ ที่จะต้องมีการจัดทำและดำเนินงานอย่างโปร่งใส สำหรับโครงการก่อสร้าง, จัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ต้องประกาศอย่างเปิดเผย (เช่น ติดประกาศ, ใส่แฟ้มไว้, ลงในเว็บไซต์) เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้

สนับสนุนให้ประชาชนจัดตั้งกลุ่ม องค์กร ทำหน้าที่คอยติดตามตรวจสอบเรื่องการทุจริตฉ้อฉล และประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ การทำประชาพิจารณ์ และการลงประชามติในเรื่องที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมสูง การเสนอปรับแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมาย

จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

การทำเรื่องขอถอดถอนผู้บริหารทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศที่ส่อว่าทุจริตฉ้อฉล ร่ำรวยผิดปกติ ทำงานขัดต่อกฎระเบียบและจริยธรรม โดยรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องจัดสรรงบประมาณในการให้ความรู้และการจัดตั้งกลุ่มองค์กรภาคประชาชนเหล่านี้

    ประชาชนควรจัดกลุ่มศึกษาเรียนรู้และจัดตั้งองค์กรประชาชนรูปแบบต่าง ๆ เช่น กลุ่มสมาคมอาชีพ สหภาพแรงงาน สหกรณ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค วิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ เพื่อช่วยให้ประชาชนสร้างความเชื่อมั่นในพลังของตนเอง กลุ่มและชุมชน เชื่อมั่นในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค

เลิกหวังพึ่งคนมีอำนาจแบบระบบอุปถัมภ์ ประชาชนที่รวมกลุ่มกันได้เข้มแข็งจะสามารถตรวจสอบผลักดันให้นักการเมือง นายทุน ข้าราชการ ต้องพัฒนาการทำงานแบบหาเสียงจากประชาชนในเชิงนโยบายหรือการเรียกร้องต้องการของประชาชนพลเมืองและผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 

    ปัจจุบันคนรวยและคนชั้นกลางของไทยซึ่งมีทั้งความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม มีศักยภาพที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมได้มากพอสมควร แต่ปัญหาคือ พวกเขาคิดในกรอบการพัฒนาแนวทุนนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอามากไป  

จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

จะต้องช่วยกันหาวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขาให้พวกเขาเห็นประโยชน์ระยะยาวของการช่วยเหลือคนอื่นๆ ลดผลประโยชน์ระยะสั้นส่วนตัว (เช่น การยอมเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า, การเคารพสิทธิผู้บริโภค ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น)   เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวร่วมกัน 

ประเทศที่จะเข้มแข็งพัฒนาตัวเองและแข่งขันกันกับประเทศอื่นได้ดีขึ้นนั้น ต้องเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมอย่างเป็นธรรม และใจกว้างเป็นประชาธิปไตย มีช่องทางที่เปิดให้คนสามารถกันแก้ปัญหาของกลุ่มเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาวได้อย่างสันติวิธี 

การหลงยึดติดกับนโยบายเปิดตลาดเสรี  เน้นการเติบโตทางวัตถุ แก่งแย่งแข่งขันแบบมุ่งหาประโยชน์ตัวเองและเอาชนะเอาเปรียบคนอื่น อย่างที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมครอบงำให้เราหลงเชื่อ คือตัวปัญหาใหญ่ สร้างความร่ำรวยให้กับคนกลุ่มน้อย

แต่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความขาดแคลน ความยากจน และการทำลายทรัพยากรระบบนิเวศเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แนวทางที่จะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน และจะสร้างวิกฤติ ความขัดแย้งมากขึ้น 

ทางออกคือต้องหันมาร่วมมือกัน กระจายทรัพยากร, รายได้ ความรู้ สู่ทุกคนอย่างเป็นธรรม เน้นปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม เพื่อคุณภาพชีวิต ที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เป็นธรรม และพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืนมากกว่า 

กล่าวโดยสรุปคือ ในทางการเมือง เราควรปฏิรูประบบการเมืองและการเลือกตั้ง ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ทางเศรษฐกิจการเมือง มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน มีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค มีอำนาจต่อรองและบทบาทในการตรวจสอบควบคุมผลักดันนักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร | วิทยากร เชียงกูล

ในทางเศรษฐกิจ ควรเปลี่ยนแปลงจากระบบทุนนิยมกึ่งผูกขาดที่เป็นบริวารให้เป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม กับระบบที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น ระบบสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค, วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ รวมทั้งระบบรัฐสวัสดิการ, ชุมชนสวัสดิการที่เน้นการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ความเป็นธรรม และการพัฒนาระบบนิเวศให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน 

ในทางสังคม ควรปฏิรูปการบริหารจัดการเรื่องศึกษา สื่อมวลชน กฎหมายและการบังคับใช้ การจัดองค์กรทางสังคม การพัฒนาทางด้านศิลปวัฒนธรรมฯลฯ ให้มีคุณภาพ ก้าวหน้า เป็นธรรม เน้นการช่วยให้ประชาชนฉลาดแบบมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ เอาการเอางาน  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่.