ข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับการบังคับใช้คาร์ซีท | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง
ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 กำหนดให้ผู้โดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่นต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์
และผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 5 กันยายน ศกนี้
ข่าวนี้ทำให้ประชาชนให้ความสนใจกับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีท (Car Seat) มากขึ้นโดยมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายตามมาและหากฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับ โอกาสนี้จึงขอกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับคาร์ซีทโดยสังเขป
ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือคาร์ซีท (Car Seat) คือ เบาะนั่งอุปกรณ์เสริมที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดนิรภัยโดยใช้ระบบผูกรัดให้ติดกับเบาะนั่งของเด็ก (Child Restraint Systems: CRS) ป้องกันไม่ให้เด็กกระเด็นจากเบาะจากการเบรกอย่างแรงหรือรถชน นอกจากนี้ยังสามารถดูดซับแรงกระแทกจากการชนได้บางส่วนด้วย ช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของเด็กได้
(ภาพจาก ASphotofamily)
อย่างไรก็ตาม คาร์ซีทไม่ได้รับความนิยมในไทยมากนัก เนื่องจากมีความเชื่อว่าอ้อมกอดแม่ปลอดภัยที่สุดจึงมักอุ้มลูกไว้ในตัก อีกทั้งยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ โดยคาร์ซีทมือหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 2,000 – 20,000 หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพวัสดุและเครื่องหมายการค้า หากเป็นคาร์ซีทที่ผลิตในต่างประเทศและนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก็จะต้องบวกภาษีและค่าขนส่งทำให้มีราคาสูงขึ้น
คาร์ซีทจัดเป็นของในประเภทพิกัด 9401.80.00 มีอัตราอากรขาเข้าอยู่ที่ร้อยละ 20 แต่หากนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยมีอยู่ก็จะสามารถใช้สิทธิพิเศษยกเว้นอากรขาเข้าได้สำหรับทุกความตกลง
หลายประเทศต่างมีกฎหมายกำหนดให้ใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กมานานไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ในสหภาพยุโรปมีคำแนะนำและกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อความปลอดภัย
ซึ่งปัจจุบันมีมาตรฐานหรือกฎข้อบังคับ 2 มาตรฐานคือ ECE R44/04 และ ECE R129 (i-Size) ที่ประกาศเมื่อปี 2013 กล่าวคือ คาร์ซีทต้องผ่านการทดสอบการจำลองอุบัติเหตุหรือการชนเพื่อพิจารณาว่าคาร์ซีทนั้นปลอดภัยเพียงพอที่จำหน่ายได้หรือไม่
(ภาพจาก macrovector)
สหภาพยุโรปประกาศกฎดังกล่าวเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปออกกฎหมายภายในที่มีมาตรฐานเดียวกัน เกี่ยวกับการใช้แบบของคาร์ซีท ท่านั่งสำหรับเด็ก ขนาดของคาร์ซีทที่ใช้ โดยจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามช่วงอายุหรือน้ำหนักของเด็ก มีคำแนะนำว่าขณะนี้ควรเลือกซื้อตามมาตรฐาน ECE R129 (i-Size) เพราะเป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดของความปลอดภัยของคาร์ซีท
จุดเด่นของ ECE R129 (i-Size) คือ กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 เดือนนั่งคาร์ซีทแบบหันหน้าไปทางด้านหลังหรือนั่งหันหน้าเข้าหาเบาะ (Rearward Facing) เป็นการคุ้มครองเด็กในช่วงอายุนี้เป็นพิเศษเพราะทารกวัยนี้กระดูกคอ และหลังยังไม่แข็งแรงพอที่รองรับการกระแทกหรือกระชาก
การที่หน้าเด็กหันไปทางด้านหลังรถจะช่วยลดแรงกระแทกจากการชนหรือเบรกกระทันหันได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้ซื้อสามารถตรวจสอบมาตรฐานได้จากฉลากหรือป้ายกำกับ
ในประเทศไทยกฎหมายคาร์ซีทนับว่าเป็นเรื่องใหม่ซึ่งการบังคับใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี อยู่ในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะออก “ข้อกำหนดการบังคับใช้กฎหมาย” กำหนดรายละเอียดซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง โดยผู้เขียนมีข้อเสนอแนะบางประการเกี่ยวกับข้อกำหนด ดังนี้
1. ควรกำหนดให้คาร์ซีทที่จะนำมาติดตั้งกับรถยนต์เป็นคาร์ซีตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากเป็นคาร์ซีทที่ผลิตในประเทศไทย แต่หากเป็นคาร์ซีทที่ผลิตในต่างประเทศ จะต้องผ่านมาตรฐานการรับรองของประเทศผู้ผลิต (อ้างอิงจากมาตรฐานยุโรป) เพราะมีรายงานทางการแพทย์ว่าการใช้คาร์ซีตที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับเด็ก
2. กรณีคาร์ซีทมือสองซึ่งหมายถึงคาร์ซีทที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้ว ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีซื้อสินค้ามือสองหรือได้รับมาจากบุคคลอื่น กรณีนี้ก็ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าสามารถนำมาใช้งานได้หรือไม่ หากอนุญาตจะควบคุมมาตรฐานอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าควรอนุญาตให้นำคาร์ซีทมือสองมาใช้ได้แต่ต้องเป็นคาร์ซีทที่อุปกรณ์ไม่ชำรุดบกพร่องและต้องไม่เคยผ่านอุบัติเหตุทางรถยนต์มาก่อน
3. ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าอย่างไรคือ “นั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย” หรือ “มีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ” เพราะทั้งสองกรณีคือข้อยกเว้นที่ทำให้ผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ไม่ต้องใช้คาร์ซีทได้ นอกจากนี้หากมีเด็กนั่งโดยสารหลายคนจะจัดการอย่างไร
อนึ่ง มีข้อเสนอเพิ่มเติมสำหรับอัตราภาษีนำเข้าคาร์ซีท ผู้เขียนเห็นว่ากรมศุลากรควรลดอัตราอากรขาเข้าให้ต่ำกว่าร้อยละ 20 เพื่อให้ราคาจำหน่ายคาร์ซีทอยู่ในระดับที่เหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สามารถเข้าถึงคาร์ซีทคุณภาพดีในราคาที่ไม่สูงเกินไปและไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นที่น่าติดตามว่าข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีความชัดเจนเพียงพอหรือไม่ และเมื่อบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบประชาชนจะตระหนักถึงความสำคัญของคาร์ซีทและให้ความร่วมมือเพียงใด
โดยผู้เขียนขอฝากสโลแกนทิ้งท้ายไว้ว่า “ปลอดภัยไว้ก่อน ให้ลูกนั่งนอนในคาร์ซีท” และ “No Car Seat, No Drive” เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายได้และชีวิตของบุตรหลานท่านมีค่าเกินกว่าจะแลกกับสิ่งใด
คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0
สุพัทธ์รดา เปล่งแสง
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์