การผลักดัน Super App มีมากกว่าการเพิ่มฟีเจอร์ลงแอป
แพลตฟอร์มหลายแห่งในโลกนี้ ต่างพยายามผลักดันในการสร้าง Super App หรือที่อาจเรียกว่า Everyday App ซึ่งหมายถึงแอปที่ครอบคลุมทุกบริการทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน มีฟีเจอร์ทำธุรกรรมมากมาย
ทุกวันนี้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนแทบทุกคนจะโหลดแอปต่างๆ ลงในเครื่องไว้จำนวนมาก บางแอปแทบไม่เคยได้ใช้ บางแอปใช้น้อยครั้งแต่จำเป็นต้องเก็บไว้เมื่อยามจำเป็น ส่วนแอปที่ใช้ประจำทุกวัน อาจมีแค่ 10-20 แอป ซึ่งต้องสลับกันใช้ไปมาขึ้นกับว่า ต้องการใช้บริการอะไร ยิ่งถ้าแอปนั้นต้องมีการลงทะเบียนชื่อผู้ใช้งาน บางคนก็ใช้ชื่อและรหัสผ่านแต่ละแอปที่ต่างกัน บางทีก็จำไม่ได้เมื่อต้องล็อกอินเข้ามาใช้ใหม่
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แพลตฟอร์มหลายแห่งในโลกนี้ ต่างพยายามผลักดันในการสร้าง Super App หรือที่อาจเรียกว่า Everyday App ซึ่งหมายถึงแอปที่ครอบคลุมทุกบริการทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน มีฟีเจอร์ทำธุรกรรมมากมาย เช่น การซื้อสินค้า การสั่งอาหาร การสนทนา รวมถึงการชำระเงิน ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องการให้ผู้ใช้งานล็อกอินเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน ให้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน
Super App ในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ WeChat ในจีน ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 1,200 ล้านคน ทั้งนี้ WeChat เป็นแอปที่มีบริการต่างๆ ที่หลากหลาย ดังเช่น บริการส่งข้อความ บริการชำระเงิน หรืออีคอมเมิร์ซ อยู่ภายในแอปเดียวกัน
นอกจากนี้ในจีนยังมี Super App ที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของ WeChat นั้นก็คือ Alipay ซึ่งเริ่มต้นจากการทำเป็นแอปช่วยในการชำระเงินด้วยการสแกนผ่าน QR Code จากนั้นได้ต่อยอดกับพันธมิตร เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น บริการการเรียกรถ บริการการลงทุน การจองอาหาร หรือการซื้อประกันชีวิต
นอกจากแอปในประเทศจีนแล้วก็ยังมี แอปอีกในหลายๆ ประเทศที่พยายามพัฒนาบริบทตัวเองให้ก้าวสู่การเป็น Super App ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียมี Super App ที่ชื่อ Tata Neu ของบริษัทในกลุ่ม Tata หรือ Paytm ที่เป็นแอปกระเป๋าเงินดิจิทัลของอินเดียที่ได้ขยายให้ผู้ใช้สามารถจองตั๋วรถไฟ หรือซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซของตัวเองอย่าง Paytm Mall ได้
Grab เป็นอีกตัวอย่างของ Super App ที่ใช้ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน แม้ Grab จะเริ่มต้นจากเป็นบริการเรียกรถแท๊กซี่ แต่ก็สามารถสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับพันธมิตร ไปต่อยอดในหลายๆ บริการได้ตั้งแต่ บริการสั่งอาหาร บริการสั่งซื้อสินค้า บริการการชำระเงิน และเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล
ในบ้านเราเองก็มีแอปหลายๆ ตัวที่พยายามผลักดันให้ตัวเองเป็น Super App ด้วยการพยายามใส่ฟีเจอร์ต่างๆ ลงมาในแอปอย่างมากมาย แต่การที่จะทำให้มีคนมาใช้งานประจำไม่ใช่เรื่องง่าย จึงจำเป็นต้องมีแรงจูงใจ เช่น การให้ส่วนลดราคา แอปหนึ่งที่น่าสนใจและดูเหมือนมีแนวโน้มว่าจะสามารถผลักดันไปสู่ Super App ของคนไทยได้ก็คือ “แอปเป๋าตัง”
ก่อนหน้าที่ผมไม่เคยได้ใช้แอปเป๋าตัง แต่ด้วยที่แอปมีจุดแข็งในการเชื่อมโยงกับพันธมิตรโดยเฉพาะการต่อยอดไปกับนโยบายรัฐบาลในหลายเรื่อง ตั้งแต่โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จนล่าสุดมีสลากลอตเตอรี่ดิจิทัล ทำให้ผมต้องเข้าไปใช้แอปนี้บ่อยๆ ในการทำธุรกรรม และเชื่อว่าคนจำนวนมากก็จำเป็นจะต้องเข้าไปใช้เพราะบริการบางอย่างเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้น
หากแพลตฟอร์มหรือหน่วยงานใดสามารถพัฒนา Super App ได้ก็จะทำให้ได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างมาก เช่น สามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลใหม่ๆ ได้ง่ายอย่างรวดเร็ว จะมีระบบนิเวศที่เข้มแข็งสามารถดึงพันธิตรใหม่ๆ เข้ามาร่วมมือง่ายขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และจะมีข้อมูลของผู้ใช้อยู่อย่างมากมาย
แต่อย่างไรก็ตาม Super App มีข้อที่น่ากังวลจากความเสี่ยงเรื่องที่ให้แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งผูกขาดในการทำบริการดิจิทัลแทบทุกอย่าง รวมถึงการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ไปวิเคราะห์ในแง่ต่างๆ รวมถึงสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งจากการที่มีข้อมูลมหาศาล จนรายอื่นๆ ไม่สามารถเข้ามาทำการแข่งขันได้
รัฐบาลจีนก็เริ่มที่จะควบคุมการใช้ข้อมูลและกำกับการทำบริการต่างๆ ของ Super App ในประเทศ อย่าง WeChat และ Alipay มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งสั่งการให้มีการเปิดแพลตฟอร์มเพื่อให้คู่แข่งสามารถเข้ามาใช้งานได้ด้วย
การพัฒนา Super App ในแง่ของเทคนิคดูเหมือนไม่ได้ยากนักเพราะเป็นการเพิ่มเติมฟีเจอร์ต่างๆ เข้าไป แต่ที่ยากกว่าคือ การหาพันธมิตรในการที่จะสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้ผู้คนมาใช้แอปนั้นเป็นประจำ ซึ่งจะเห็นได้ว่า Super App ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเป็นแอปที่ตรงกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน จึงทำให้การเกิดขึ้นของ Super App ทำได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้นคงต้องดูกันต่อว่าบ้านเราจะมีใครผลักดัน Super App สำเร็จ