โลกเปลี่ยนองค์กรต้องปรับ! 7 เทรนด์สำคัญ กำหนดความสำเร็จของบริษัทในปี 2025
องค์กรต้องปรับตามโลกยุคใหม่! เปิดลิสต์ 7 เทรนด์สำคัญที่จะกำหนดความสำเร็จของบริษัทในปี 2025 วัฒนธรรมองค์กรเริ่มพลิกโฉมไปตามบริบทชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมถึง AI ที่ก้าวหน้าขึ้น เหล่านี้ล้วนผลักให้องค์กรต้องเร่งปรับตัวให้ไว
KEY
POINTS
- ปี 2025 โลกการทำงานกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้ง วัฒนธรรมองค์กรจะพลิกโฉมไปตามบริบทของวัยทำงานรุ่นใหม่ AI ที่ก้าวหน้าขึ้น และการใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น ล้วนผลักดันให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวให้ไว หากอยากเติบโตและประสบความสำเร็จ
- หนึ่งในการปฏิวัติของโลกการทำงานที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ก็คือ “สัญญาจ้างงานรูปแบบใหม่” โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพที่ดีให้แก่พนักงานมากกว่าที่เคย
- ความโปร่งใสในการแจ้งอัตราค่าจ้างของตำแหน่งงานต่างๆ ก็เป็นอีกเทรนด์สำคัญที่จะมาแรงในปีหน้าเช่นกัน ไม่เพียงแต่จะลดความเสี่ยงให้บริษัท แต่ยังช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างได้
ภูมิทัศน์ของสถานที่ทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมันเกิดขึ้นให้เราเห็นอยู่ตรงหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดปี 2024 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกการทำงานที่เห็นชัดเจนคงหนีไม่พ้น การประกาศคำสั่งให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ของหลายองค์กรระดับโลก เกิดการถกเถียงเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงานที่เริ่มหายไป รวมถึงภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ผันผวนหนัก ส่งผลให้ “ซีอีโอลาออก-ถูกปลด มากที่สุดเป็นประวัติการณ์”
เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2025 โลกการทำงานกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เมื่อวัฒนธรรมองค์กรเริ่มพลิกโฉมไปตามบริบทชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี AI และการที่วัยทำงานตระหนักรู้เรื่องสุขภาพที่มากขึ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปทั่วโลก
จากการวิจัยล่าสุดของ ADP Research Institute (สถาบันวิจัยตลาดแรงงานและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน) และผลการค้นพบล่าสุดจาก Academy to Innovate HR (AIHR) ชี้ว่า สิ่งเหล่านี้กำลังปรากฏให้เห็นผ่าน 7 เทรนด์สถานที่ทำงาน ซึ่งจะกำหนดว่าองค์กรแบบไหนจะประสบความสำเร็จในปี 2025 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และโค้ชผู้บริหารอย่าง “ซินเทีย ปอง” (Cynthia Pong) ได้รวบรวมมาให้เช็กลิสต์ ดังนี้
“การใช้ AI ทำงาน” กับ “การใช้คนทำงาน” ต้องมีสมดุล
บริษัทต่างๆ กำลังเผชิญกับการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะมีแนวโน้มสำคัญที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างการทำงานในองค์กร คือ การสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ AI และการใช้มนุษย์ทำงาน ปีที่ผ่านมาเกิดกระแสตื่นตูม AI โดยหลายๆ องค์กรมักจะเร่งเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เร็วที่สุด ทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม พนักงานก็ยังใช้ไม่เป็น หรืองานบางประเภทก็ไม่จำเป็นต้องใช้ด้วยซ้ำ
รายงานจาก AIHR พบว่า ในความเป็นจริงแผนกการตลาดของบริษัทส่วนใหญ่นำ AI มาใช้ทำงานแค่ 34% ส่วนแผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัทส่วนใหญ่ ใช้ AI ทำงานจริงๆ แค่ 12% เท่านั้น อีกทั้งข้อมูลจาก ADP แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหาร 87% คาดการณ์ว่า AI จะเข้ามาช่วยงานบางอย่างของตนในบริษัท ไม่ใช่ว่าเอา AI มาแทนที่ตนเอง ต่อไปยิ่ง AI เติบโตก้าวหน้ามากขึ้นเท่าไร ในสำนักงานก็ยิ่งควรเรียกร้องให้มีกลยุทธ์ที่สมดุลและสมเหตุสมผลมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของมนุษย์มากกว่าที่จะมาแทนที่มนุษย์
ระบบทำงานออนไลน์ทางไกล การทำงานข้ามประเทศ จะมาแรงมากขึ้น
อีกเทรนด์หนึ่งที่จะมาแน่ๆ คือ ปีหน้าองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ จะเน้นใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกล เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระยะไกลมากขึ้น วิจัยของ ADP พบว่าปัจจุบันพนักงาน เกือบหนึ่งในสาม (ประมาณ 33%) ทำงานข้ามเขตมหานคร (ข้ามประเทศ) เพิ่มขึ้นจาก 23% ในปี 2020 ซึ่งหมายความว่าพนักงานแต่ละคนอาศัยอยู่ในเขตมหานครอื่นที่ไม่ใช่เขตที่สำนักงานหลักตั้งอยู่ ปรากฏการณ์นี้กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน นำมาซึ่งความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น และยังสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับผู้จัดการที่มีทีมงานระยะไกลหรือแบบผสมผสาน
สัญญาจ้างงานรูปแบบใหม่ เน้นสวัสดิการสุขภาพจิตเป็นหลัก
ในขณะที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของเรามากขึ้น อีกหนึ่งการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นตามมาติดๆ ในปีหน้าก็คือ “สัญญาจ้างงานรูปแบบใหม่” โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพที่ดีให้แก่พนักงาน โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราต่างเห็นรายงานวิจัยหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า วัยทำงานยุคนี้มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น การศึกษาบางชิ้นระบุว่า พนักงาน 43% รู้สึกหมดไฟ และ 37% เครียดจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยจาก ADP พบว่าโชคดีที่บริษัทส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในโซลูชันด้านสุขภาพจิตในปีหน้า เช่น มีการจัดซื้อเครื่องมือจัดการความเครียด จัดโปรแกรมทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น บริการการแพทย์ทางไกล มีโปรแกรมการฝึกสติและการทำสมาธิเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงาน องค์กรต่างๆ ตระหนักดีว่า ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานที่เพิ่มขึ้นนั้น สามารถขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจให้ดีขึ้นไปพร้อมกันด้วย
ความโปร่งใสในการจ่ายเงิน เทรนด์มาแรงในภาคธุรกิจปีหน้า
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เริ่มออกกฎหมายเข้มงวด กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยช่วงเงินเดือนหรืออัตราค่าจ้างของแต่ละตำแหน่งงานอย่างโปร่งใสแก่ลูกจ้าง (ยกตัวอย่างเช่น กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นิวยอร์ก และอีกหลายๆ รัฐ ในสหรัฐอเมริกา)
ประโยชน์ของความโปร่งใสในการจ่ายเงินนั้น มีมากกว่าการปฏิบัติตามข้อกำหนดและการจัดการความเสี่ยงสำหรับบริษัท ความโปร่งใสนี้ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ส่งเสริมความไว้วางใจและความภักดี ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างชื่อเสียงของแบรนด์ ความโปร่งใสในการจ่ายเงินสามารถเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ชัดเจนในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถสูงไว้ได้
องค์กรที่ต่อต้านความเปราะบาง จะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในปี 2025
ในขณะที่องค์กรต่างๆ กำลังเร่งพัฒนาทั้งพนักงานและระบบการทำงานใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายและความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีเทรนด์สำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้บริษัทที่มีหัวก้าวหน้า แตกต่างจากบริษัทที่ติดอยู่กับกรอบคิดที่ล้าสมัย นั่นคือ “การสร้างสถานที่ทำงานที่ต่อต้านความเปราะบาง”
องค์กรที่ต่อต้านความเปราะบางจะมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะต่อสู้กับความวุ่นวายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งต่างจากความสามารถในการฟื้นตัวแบบเดิม (เน้นการทนทานต่อแรงกระแทกเท่านั้น) ตามรายงานของ AIHR บริษัทที่ก้าวหน้าได้นำกลยุทธ์ต่อต้านความเปราะบางมาใช้ โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมของที่ทำงาน ให้กระตุ้นและส่งเสริมการเติบโตของพนักงาน และกระตุ้นความสามารถในการปรับตัว
วิธีการนี้สำคัญอย่างยิ่ง โดย Microsoft และ LinkedIn ก็นำไปใช้แล้วพิสูจน์ได้ว่ามันช่วยให้องค์กรเติบโตได้ดีกว่าเดิม โดยพบว่าผู้นำ 79% ยอมรับว่าการปรับตัวให้รวดเร็วนั้นเป็นสิ่งจำเป็น องค์กรใดส่งเสริมวัฒนธรรมที่ว่า “ความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้” องค์กรนั้นมักจะพร้อมปรับตัวและเติบโตผ่านการเรียนรู้และการทดลองได้อย่างต่อเนื่อง
ยิ่งพนักงานมีทักษะใหม่ๆ รอบตัว ก็ยิ่งสร้างมูลค่าให้องค์กร
ในภูมิทัศน์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่บริษัท 90% จะหันมาใช้การจ้างงานตามทักษะ มากกว่าตามใบปริญญา (เทียบกับการจ้างงานตามข้อกำหนดของวุฒิการศึกษา) เพราะมีข้อดีตรงที่ทำให้การจ้างงานผิดพลาดน้อยลง
เมื่อทักษะกลายมาเป็นสิ่งที่จำเป็นในสถานที่ทำงาน องค์กรต่างๆ ตระหนักดีว่า การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ขององค์กร หลักฐานนี้ชัดเจน บริษัทที่นำการจ้างงานตามทักษะมาใช้ จะพบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยพนักงานที่ไม่มีวุฒิการศึกษามีอัตราการอยู่ต่อในบริษัทเดิมสูงขึ้น 20%
รีบูตการมีส่วนร่วมของพนักงานใหม่ อย่าใช้วิธีเดิมๆ ที่ไม่ได้ผล
ภายใต้บริบทของโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปแล้ว บริษัทจะให้ HR สำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงานแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว หลังจากหลายทศวรรษของการวัดผลการมีส่วนร่วมของพนักงานในออฟฟิศ AIHR ระบุว่าระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานทั่วโลกยังคงอยู่ที่ 23%
ดังนั้น องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องกลับไปสู่พื้นฐาน หมายความว่า ต้องเริ่มตั้งต้นที่การวางเป้าหมายที่เน้นย้ำความคาดหวังที่ชัดเจน ย้ำให้พนักงานเห็นการทำงานที่มีความหมาย และสร้างการเชื่อมโยงที่แท้จริง แทนที่จะสร้างการมีส่วนร่วมแบบผิวเผิน เช่น การสำรวจวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกใดๆ
โดยสรุปคือ องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในปี 2025 ได้นั้น ต้องเป็นองค์กรที่สามารถบูรณาการองค์ประกอบต่างๆ ทั้ง 7 ข้อข้างต้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างดี โดยจะต้องให้ความสำคัญกับ..
- การใช้เทคโนโลยีเพื่อมนุษย์อย่างสมดุล เอามาช่วยงานมนุษย์ไม่ใช่มาแทนที่
- สร้างความสัมพันธ์ที่โปร่งใสและไว้วางใจกับพนักงาน
- ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการปรับตัวได้เร็ว เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาส
- ลงทุนในการเรียนรู้และการพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง
- เน้นการมีส่วนร่วมและความเป็นอยู่ที่ดีที่มีความหมาย
แนวทางการทำงานในปีหน้า จะต้องการมากกว่าแค่การนำเทคโนโลยีหรือแนวนโยบายใหม่ๆ มาใช้เท่านั้น แต่ยังต้องคิดทบทวนถึงวิธีการทำงานใหม่ การเรียนรู้ และการเติบโตร่วมกันอีกด้วย องค์กรที่สามารถนำทางเทรนด์สถานที่ทำงานเหล่านี้ได้สำเร็จในปี 2025 จะอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถเติบโตได้ทั้งในยุคนี้และยุคต่อๆ ไป