หยวน vs. ดอลลาร์ ความท้าทายสกุลเงินโลก | อาร์ม ตั้งนิรันดร
สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในสงครามยูเครน-รัสเซียในครั้งนี้ คือ เราได้เห็นการใช้ “อาวุธนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ” ของสหรัฐ ซึ่งสหรัฐทำได้
เพราะสถานะของดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นเงินสกุลหลักของการค้าโลก นั่นทำให้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ มีอานุภาพทำลายล้างทางเศรษฐกิจสูงมาก เพราะเมื่อสหรัฐ ตัดธนาคารและธุรกิจรัสเซียออกจากการเข้าถึงดอลลาร์สหรัฐ ก็เท่ากับตัดเส้นเลือดใหญ่ทางการเงินที่เป็นน้ำเลี้ยงกองทัพรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ มีหลายคนมองว่ารัสเซียได้เตรียมการมาเต็มที่ โดยเก็บตุนเงินสำรองระหว่างประเทศไว้สูงถึง 630,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สหรัฐ และพันธมิตรใช้มาตรการเหนือเมฆที่ไม่มีใครคาดคิดว่าทำได้
นั่นก็คือ การจำกัดไม่ให้ธนาคารกลางรัสเซียทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป ผลคือ ทำให้รัสเซียไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในเงินสกุลต่างประเทศได้เลย เพราะไม่สามารถถอนเงินหรือขายสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่มีได้
โดยที่ ปัจจุบันกว่าร้อยละ 70 ของทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียเป็นเงินฝาก พันธบัตร หรือสินทรัพย์อื่นในสกุลเงินต่างประเทศ ที่เหลืออีกร้อยละ 20 จึงเป็นทองคำที่เก็บรักษาไว้ในประเทศ
คนที่ต้องช็อคตาค้างกับเรื่องนี้มากที่สุดก็คือ จีน เพราะปัจจุบันจีนสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศไว้สูงกว่ารัสเซียถึง 6 เท่าตัว แต่หากวันหนึ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ แล้วสหรัฐ สามารถออกมาตรการไม่ให้จีนใช้เงินสำรองที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศ ก็เท่ากับที่สะสมมาหลายสิบปีมลายหายสิ้นในพริบตา เอาเงินออกมาใช้ในยามวิกฤตไม่ได้
มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า อาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ จะกลายเป็นบูมเมอแรงกลับมาทำลายสถานะของดอลลาร์สหรัฐ เองหรือไม่ แนวคิดนี้มองว่าสหรัฐ กำลังทำลายความน่าเชื่อถือของการถือครองดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศต่างๆ จะเริ่มคิดที่กระจายความเสี่ยงออกจากดอลลาร์สหรัฐ
ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินสกุลอื่นในเงินสำรอง การเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลอื่นในการค้าระหว่างประเทศ ตัวอย่างที่ชอบยกก็เช่นว่าต่อไปการค้าระหว่างรัสเซียกับจีนจะทำผ่านเงินสกุลหยวน เช่นเดียวกับการซื้อน้ำมันของจีนจากซาอุดิอารเบียก็จะทำเป็นหยวน พอหลายๆ ประเทศทำแบบนี้มากขึ้น ย่อมสั่นสะเทือนถึงดอลลาร์สหรัฐ
ในประเด็นนี้ ผมขอแยกสองเรื่อง เรื่องแรกคือเงินหยวนในปัจจุบันนั้น มองไม่เห็นทิศทางจะเขย่าบัลลังก์ดอลลาร์สหรัฐ ได้เลย แต่เรื่องที่สองคือมองอนาคตอย่างหยวนดิจิทัล ซึ่งหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าอาจมีศักยภาพมาท้าทายดอลลาร์สหรัฐ และมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกได้
ผมคิดว่าก่อนที่สหรัฐ จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้ คงประชุมหารือกันอย่างเคร่งเครียด ในที่ประชุมคงมีคนหยิบยกเรื่องผลกระทบต่อสถานะดอลลาร์สหรัฐ แต่ผมเชื่อว่าคงมีคนแสดงความเห็นสองข้อในที่ประชุม ซึ่งทำให้สหรัฐ สบายใจที่จะใช้อาวุธร้ายแรงระดับนี้
หนึ่งคือ ปัจจุบันไม่มีทางเลือกอื่นที่จะมาแข่งขันกับดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะเงินสกุลหลักของโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ บิตคอยน์ หรือเงินหยวน สำหรับเงินหยวนนั้น สาเหตุสำคัญที่ไม่มีทางเทียบกับสหรัฐ ได้ เพราะเงินหยวนไม่ใช้สกุลเงินที่แลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี
เนื่องจากรัฐบาลจีนยังควบคุมการเปิดเสรีบัญชีทุน และควบคุมเงินไหลเข้าออก เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก และรัฐบาลจีนต้องการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ
สองคือ ถึงคนจะไม่ไว้ใจดอลลาร์สหรัฐ แล้วคนจะไว้ใจเงินหยวนได้หรือ หากสหรัฐ ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธได้ ต่อไปจีนก็ใช้หยวนเป็นอาวุธได้เหมือนกัน สำหรับประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ อย่างไรก็ยังเลือกดอลลาร์ก่อนหยวนแน่นอน ยิ่งเราเคยเห็นตัวอย่างว่าเมื่อจีนไม่พอใจออสเตรเลีย จีนก็กดดันทางเศรษฐกิจกับออสเตรเลียอย่างหนัก
"ส่วนคนที่อยากเลือกจีนก็อาจมีรัสเซีย เกาหลีเหนือ อิหร่าน ซาอุดิอารเบีย ซึ่งความเข้มแข็งรวมกันทางเศรษฐกิจไม่สามารถที่จะสู้สหรัฐ"
แน่นอนว่า ต่อไปนี้หลายประเทศอาจพยายามกระจายความเสี่ยงและลดการถือดอลลาร์สหรัฐ ในเงินทุนสำรองลง แต่ในระยะสั้นและระยะกลาง เพียงลดการถือครอง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานะของดอลลาร์สหรัฐ ที่ยังคงเป็นเงินสกุลหลักอันดับ 1 ของโลกได้
อีกหมากเด็ดที่เป็นนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจของค่ายตะวันตกก็คือ การห้ามธนาคารรัสเซียใช้ระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบสื่อสารหลักที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ติดต่อเพื่อดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคาร
ดังนั้น การตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT จะส่งผลทำให้รัสเซียเผชิญความยากลำบากในการติดต่อธนาคารในประเทศอื่น ๆ เพื่อดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ.
มีหลายคนโต้แย้งว่า จีนได้พยายามสร้างระบบที่เป็นทางเลือกไว้แล้วชื่อ CIPS (Cross-Border Interbank Payment System) แต่ข้อเท็จจริงก็คือธุรกรรมที่ทำผ่าน CIPS ยังคงมีปริมาณน้อยมาก เรียกได้ว่าธุรกรรมที่ทำผ่าน SWIFT ใน 1 วัน ยังมากกว่าปริมาณธุรกรรมที่ทำผ่าน CIPS ใน 1 ปี
รัฐบาลสหรัฐ ก็ยังคงสามารถคว่ำบาตรธนาคารพาณิชย์ที่เลือกใช้ระบบ CIPS เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรรัสเซีย ผลก็คือ ธนาคารพาณิชย์เองก็จะหลีกเลี่ยงที่จะใช้ระบบอื่นแทน SWIFT
ยกตัวอย่างก็คือ ธนาคารพาณิชย์หลักของจีนทั้งหมดล้วนปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของตะวันตกอย่างเคร่งครัด เพราะไม่สามารถเสี่ยงที่จะถูกคว่ำบาตรไปด้วยหรือถูกจำกัดการเข้าถึงระบบการเงินของค่ายตะวันตกได้
ส่งผลให้ที่ผ่านมา ธนาคารจีนที่เคยช่วยหาทางทำธุรกรรมหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านหรือรัสเซีย มีแต่ธนาคารเล็กๆ เท่านั้น ส่งผลให้มีข้อจำกัดอย่างมากต่อปริมาณธุรกรรมที่ทำได้
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้คือเกมในปัจจุบัน แต่ในวงการยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ เริ่มมีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่ดิจิทัลหยวน ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบใหม่ของรัฐบาลจีนจะมาเปลี่ยนเกมเหล่านี้
คอนโดริซ่า ไรซ์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในสมัยรัฐบาลจอร์จบุชจูเนียร์ ถึงกับออกมาแสดงความคิดเห็นว่าในสงครามครั้งต่อไประหว่างสหรัฐ กับจีน พลังการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ต่อจีนอาจลดลงเพราะหยวนดิจิทัล
มีรายงานวิจัยอย่างน้อย 3 ฉบับของสหรัฐ ที่กล่าวถึงข้อกังวลนี้ ได้แก่ รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ รายงานของคณะกรรมาธิการของสภาคอนเกรซ และรายงานของสถาบันฮูเวอร์แห่งมหาวทยาลัยสแตนฟอร์ด
โดยมีข้อสรุปว่าจีนอาจสร้างระบบการชำระเงินผ่านเงินสกุลดิจิทัล (CBDC) ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นธุรกรรมที่อาจไม่ต้องผ่านตัวกลางคือธนาคารพาณิชย์เช่นในอดีต และอาจส่งผลให้การคว่ำบาตรของสหรัฐ ทำได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงเพิ่งเริ่มต้น เรายังไม่เห็นภาพของระบบการชำระเงินแบบใหม่ที่เป็นรูปธรรม ในชั้นนี้หยวนดิจิทัลเตรียมใช้ภายในประเทศก่อน และจีนยังต้องศึกษาและพัฒนาระบบอีกมากเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
แต่โจทย์หนึ่งของธนาคารกลางจีนต่อจากนี้ที่แน่นอนก็คือ จะพัฒนาระบบอย่างไรให้หลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ได้ เรียกว่าเรื่องนี้ในระยะยาวจะกลายมาเป็นคำถามสำคัญทางนโยบายของรัฐบาลจีน.
คอลัมน์ มองจีนมองไทย
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ด้านกฎหมายและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย